บันทึกการซื้อ-การใช้ Tent ที่น่ารู้
การผจญภัยในป่าเขา ดูจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และน่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ แม้เราจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่การได้ไปใช้ชีวิตดิบๆ ในธรรมชาติกับผองเพื่อน ถือเป็นช่วงเวลาพิเศษสุด และเป็นความฝันของใครต่อใคร รวมถึงตัวผมด้วยเช่นกัน ใครจะไปรู้ว่าอุปกรณ์เดินป่านั้น มีมากมายยิ่งกว่าการเลือก Application ใน App Store และอุปกรณ์ชิ้นสำคัญคงหนีไม่พ้นการเลือกซื้อถุงนอน (Sleeping bag) และเต้นท์ (Tent) เพราะด้วยขนาดที่ใหญ่ น้ำหนักมาก รวมถึงราคาค่อนข้างสูง อุปกรณ์สองชิ้นนี้จึงมีนัยสำคัญต่อน้ำหนักบนหลังอย่างเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่า หากเราต้องการ “ความเบาหวิว” ก็ต้องแลกมาด้วย “ราคาที่แสนโหด” ซึ่งหากเราไม่ได้มีแผนเดินทางท่องธรรมชาติบ่อยนัก หรือนานๆ ไปที ก็อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนกับถุงนอน และเต้นท์มากนัก แต่หากคิดการใหญ่ จะลงทุนกับสิ่งเหล่านี้เพื่อใช้ในทริปถ่ายภาพต่อๆ ไปที่จะตามมา ก็มีเรื่องต้องคิด … ก่อนตัดสินใจซื้อมากมาย
[ภาพประกอบ: การนอนเต้นท์ท่ามกลางธรรมชาติเป็นช่วงเวลาพิเศษที่นักท่องเที่ยว และนักถ่ายภาพแทบทุกคนใฝ่ฝัน – ในภาพคือจุดชมวิวแห่งในบริเวณ Mt. Cook, New Zealand]
ก่อนเลือกเต้นท์เพื่อนำไปใช้งาน ลำดับแรกที่ต้องพิจารณาก่อนคือ การขนย้ายเต้นท์เพื่อไปท่องเที่ยว หากท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ หรือจุดกางเต้นท์ไม่ไกลมากนัก เดินทางสะดวก น้ำหนักของเต้นท์จึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อ แต่หากเป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ (Backpacking) ปั่นจักรยานท่องเที่ยว หรือพายเรือ Kayak ที่ต้องแบกเต้นท์ติดตัวไปตลอด น้ำหนักของเต้นท์ถือเป็นเรื่องสำคัญสุดๆ เลย และในช่วงต้นปี 2558 นี้ ผมมีแผนจะเดินทางแบกเป้ท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ จึงได้หาข้อมูลในการเลือกซื้อ-ใช้เต้นท์ ขนาดเล็ก เบาๆ สำหรับ 1-2 คน จากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พนักงานขาย หรือข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังสนใจ จึงขอนำข้อมูลมาบันทึกไว้ให้ได้อ่านกัน ดังนี้ครับ:
เต้นท์ (Tent)
เต้นท์ที่วางขายในประเทศไทยมีหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อจะมีคุณภาพและราคาแตกต่างกัน เช่น เต้นท์ Karana เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวมือใหม่ที่ชอบการเดินป่า คุณภาพปานกลาง ราคาไม่แพง ขณะที่เต้นท์ MSR, Northface, หรือ MSR นั้น คุณภาพดี มีน้ำหนักเบา และราคาสูง
ทุกๆ ยี่ห้อ จะมีขนาดเต้นท์ให้เลือกตามจำนวนคนที่สามารถเข้าไปนอนในนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นขนาด 1,2, 3 และ 4-6 คน เช่น ยี่ห้อ MSR มีรุ่น Hubba (สำหรับ 1 คน), Hubba Hubba (สำหรับ 2 คน), Mutha Hubba (3 คน) และ Papa Hubba (ขนาด 4 คน) เป็นต้น
เต้นท์ขนาด 1 คน มีน้ำหนักเบากว่าเต้นท์ขนาด 2 คนไม่มากนัก พนักงานขายจึงมักแนะนำให้ซื้อเต้นท์ขนาด 2 คน โดยจ่ายเพิ่มอีกนิด แต่ได้ประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น
อย่าเลือกเต้นท์ใหญ่เกินไปนะครับ อย่างที่บอก น้ำหนักเป็นตัวแปรสำคัญของการเดินป่า หากไปมากกว่า 3-5 คน ควรเลือกเต้นท์ขนาด 1-2 คน และให้ดี แต่ละคนควรพกเต้นท์ของตนเองไปเลยครับ เพราะเต้นท์ใหญ่ ขนาด 3-6 คน หาที่กางลำบาก เพราะต้องใช้พื้นที่มาก แถมตอนเก็บยังลำบาก เสียเวลาพอสมควร
เต้นท์ ก็เหมือนบ้าน หากไม่ได้ลองกางเต้นท์ที่จะซื้อเอง หรือไม่ได้เข้าไปสัมผัสภายในเต้นท์ว่าโปร่ง โล่ง สบายหรือไม่ ขอแนะนำว่าอย่าซื้อเด็ดขาดครับ
เต้นท์เล็กขนาด 1-2 คนนั้น ควรเลือกที่เป็น Free Stand คือกางแล้วจะเป็นทรงเต้นท์ขึ้นมาเลย โดยเสาของเต้นท์ (หรือโครง) มีทั้งแบบโครงเดียว, 2 เสา และ 3 เสา ให้ทดลองกางเต้นท์ก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อดูความยากง่าย ความแข็งแรง การเข้าออก พื้นที่ภายใน การออกแบบ และการระบายอากาศด้วยนะครับ
น้ำหนักของเต้นท์กว่าครึ่งนึง จะมาจากเสาเต้นท์ โดยทั่วไปเต้นท์ราคาถูกจะใช้เสาไฟเบอร์กราส ที่มีน้ำหนักพอควร แต่หากเต้นท์ราคาสูง จะใช้เสาอลูมินั่ม ที่เบา และแข็งแรง ทำให้น้ำหนักเต้นท์เบาขึ้นมาก
การเลือกเต้น ต้องดูภูมิอากาศของจุดหมายปลายทางที่เราจะไป หากเป็นหน้าร้อน ควรเลือกซื้อเต้นท์แบบ 3 ฤดู เพราะจะเบาและถูกกว่า (เช่น MSR Hubba Hubba NX2 หนัก 1.7kg)
แต่หากต้องเดินทางไปหน้าหนาว อุณหภูมิติดลบ รวมถึงมีโอกาสเจอหิมะ หรือลมกรรโชกแรง เต้นท์แบบ 4 ฤดูจะเหมาะสมกว่าครับ (เช่น Mountain Hardwear EV2 หนัก 2.3kg)การเข้าออกเต้นท์ขนาด 2 คน อาจจะไม่สำคัญนักที่มีทางเข้าแค่ทางเดียว เพราะเราสามารถขยับให้กันและกันเพื่อเข้าออกเต้นท์ แต่บางรุ่น บางยี่ห้อ ออกแบบให้มีทางเข้า 2 ฝั่ง จึงเพิ่มความสะดวกมากขึ้น ลองนึกถึง การปวดท้องกลางดึก แล้วเรานอนในสุด ต้องออกจากเต้นท์ที่มีทางออกทางเดียว คงไม่สนุกแน่นอน
เต้นท์ที่ไม่มีที่ระบายอากาศ อาจจะเกิดการควบแน่น ระหว่างอากาศภายนอก (ที่เย็น) และอากาศภายในเต้นท์ (ที่อุ่นกว่า) เกิดการกลั่นตัวของหยดน้ำภายในเต้นท์ แม้ภายนอกจะมีผ้าเต้นท์ที่มีสารเคลือบกันน้ำอยู่ก็ตาม แต่เมื่อมีการกลั่นตัวดังกล่าว ถึงไม่รั่ว เราก็มีโอกาสเปียกอยู่ดีครับ ดังนั้น จึงควรเปิดช่องระบายอากาศไว้เสมอ เช่น เปิดหน้าต่าง หรือทางเข้าไว้ ให้อากาศถ่ายเท ซึ่งลดการควบแน่นนี้ได้ ดังนั้น ควรเลือกซื้อเต้นท์ที่ออกแบบให้มีหน้าต่างจะดีกว่าเต้นท์ที่มีเฉพาะทางเข้า ออกครับ
เทคนิคบ้านๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันน้ำฝัน คือ ให้กางผ้าเต้นท์ แล้วใช้เทียนไขถูตามตะเข็บรูฝีเข็ม เพื่อให้เนื้อเทียนเข้าไปอุดตามรูเล็กๆ จะช่วยกันน้ำได้เพิ่มขึ้น แต่หากเป็นเต้นท์ที่ราคาสูง มักจะมีการเคลือบตะเข็บเต้นท์ให้แล้ว (Seam sealing tent)
ควรทำให้เต้นท์แห้งเสียก่อนที่จะเก็บ เพื่อไม่ให้เต้นท์ขึ้นรา อาจใช้ผ้าเช็ด หรือผึ่งให้แห้งก็ได้ครับ
ที่รองนอน (Sleeping Pad)
เป็นแผ่นโฟมหนาประมาณ 2/3 ถึง 1 นิ้ว ที่ช่วยเพิ่มความนุ่มสบาย ในการนอน โดยเฉพาะการกางเต้นท์บนพื้นดินขุรขระ มีหิน มีรากไม้อยู่ข้างใต้ เราคงจะนอนไม่สบายเป็นแน่ นอกจากนี้มันยังช่วยทำหน้าที่เป็นฉนวน ป้องกันความเย็นจากพื้นดินซึมเข้าตัวเรา อย่าชะล่าใจว่ามีถุงนอนแล้วไม่จำเป็นต้องใช้ Sleeping Pad ก็ได้นะครับ เพราะการกางเต้นท์ในแถบที่มีอากาศหนาวมาก อุณหภูมิเลขตัวเดียว ถึงติดลบนั้น ช่วงกลางคืนอุณหภูมิจะลดลงมาก ถุงนอนขั้นเทพ ก็เอาไม่อยู่ครับ
ที่รองนอนมีตั้งแต่ราคาหลักร้อย จึงถึงหลักหลายพันบาท มีหลายรุ่น หลายแบบ เช่น แบบโฟม แบบเป่าลมเอง และแบบที่สูบลมอัตโนมัติ ส่วนตัวผมเลือกแบบโฟม ราคา 700 กว่าบาท ถึงแม้ขนาดจะใหญ่ไปสักหน่อย (ขนาดพอๆ กับเสื่อโยคะ) ซึ่งก็ประหยัดเงินไปได้มาก เมื่อเทียบกับรุ่นกระทัดรัด ที่สามารถพับได้เล็กลงมาสักครึ่งนึง มีที่เป่าลมอัตโนมัติ และทำหน้าทีเป็นฉนวนได้ดีกว่า (โดยการวัดจาก R-Value ยิ่งสูงยิ่งดี) แต่ราคาแพงพอสมควร ราวๆ 4 พันบาท
อุปกรณ์เสริมอื่นๆ
เต้นท์ทุกหลังจะมาพร้อมสมอบก สำหรับปักลงพื้นดินเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับเต้นท์ แต่หากคุณเน้นเรื่องความเบา สามารถแยกซื้อสมอบกแบบ Carbon หรือ Titanium เพิ่มเติมได้ภายหลัง เบาแค่ไหนขึ้นกับยี่ห้อ อย่างเช่น Terra Nova Titanium หนักเพียง 1 กรัมต่อชิ้น (6 ชิ้น @ 400 บาท)
การไปเที่ยวป่า เที่ยวดอยในเมืองไทย ควรเลือกเต้นท์ที่มีมุ้งในตัว (มักจะมี ผ้าไนล่อนที่เคลือบ PU เพื่อกันฝน/น้ำค้าง หรือที่เรียกว่า Flysheet แยกออกมาอีกผืน เพื่อกางทับด้านบน) เพราะนอกจากจะสามารถป้องกันแมลง/ยุง บินเข้าเต้นท์ เรายังสามารถเปิดอ้า Flysheet เพื่อรับลม นอกจากนี้ อาจต้องหาผ้าใบเพิ่มสักผืน เพื่อกางเหนือเต้นท์ เนื่องจากน้ำค้างตอนกลางคืนจะเยอะมากครับ Flysheet อาจเอาไม่อยู่
ผ้าคลุมเต้นท์ Flysheet จะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี หลังจากนั้น สารเคลือบกันน้ำเสื่อมสภาพ ซึ่งแก้ไขได้โดยการหา Flysheet ผืนใหม่ทดแทนของเดิม
แผ่นปูรองเต้นท์ (Footprint) คือผ้ายางหนาที่ปูใต้เต้นท์เพื่อป้องกันน้ำซึมและทำให้เต้นท์สะอาด แผ่นปูรองควรมีขนาดกว้าง x ยาวเท่ากับเต้นท์ หรือใหญ่กว่านิดหน่อย และควรทำจากวัสดุกันน้ำ เช่น ผ้าร่มกันน้ำ หรือพลาสติก PE เคลือบกันน้ำ หากต้องการน้ำหนักเบาๆ เราอาจหาแผ่นอลูมินั่มฟอยล์แบบหนา ที่มีน้ำหนักเบา มาปูด้านล่างแทนได้ครับ
สุดท้ายของถูกไม่มีดี ของดีไม่มีถูก เลือกเต้นท์คุณภาพที่ดีขึ้นมาสักหน่อย เบาขึ้นมาสักนิด (หรือเบาๆ ไปเลยก็ได้ถ้างบถึง) และดูว่าเราจะมีทริปท่องเที่ยว ขึ้นดอย ที่จำเป็นต้องใช้เต้นท์บ่อยไหม หากใช้บ่อยๆ อาจลงทุนซื้อเต้นท์คุณภาพดีๆ สักหลักก็สมเหตุผล แต่หากนานๆ จะมีทริปนอนเต้นท์สักที แนะนำให้ยืม /หรือเช่า จะประหยัด คุ้มค่ากว่า และหวังว่าบันทึกนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆ นะครับ ไว้คราวหน้าจะหาเวลาบันทึกเรื่อง “ถุงนอน (Sleeping Bag)” ให้ได้อ่านกัน ขอบคุณที่ติดตามครับ