เตรียมตัวไปลุยทริป ตปท : Check list อุปกรณ์เดินเขาสำหรับช่างภาพ
การท่องเที่ยวผจญภัย เป็นกิจกรรมที่หลายๆ คนใฝ่ฝันถึง โดยเฉพาะการได้ไปเที่ยวปีนเขายังต่างแดน เช่น เส้นทางเดินเขา Routeburn Track ที่ New Zealand, เส้นทาง Great walk ที่ Tasmania, และเส้นทางเดินเขาสุดโหดที่ Patagonia(ทั้งฝั่ง Chile + Argentina) ที่ครั้งหนึ่งในชีวิต ต้องไปให้ได้ ผมเองมีโอกาสไปเที่ยว New Zealand หลายครั้ง แต่ครั้งที่ประทับใจที่สุดคือการเดินบนเส้นทาง 34 กิโลเมตรของ Routeburn Track เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ซึ่งต้องเรียกว่า “ครบรส” เหมือนมาม่ารส “ครบรส” แม้จะแทบไม่เห็นฟ้างามๆ เพราะฝนตกตลอดทั้งวัน แต่พวกเรายังสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของขุนเขา ความสวยงามของธรรมชาติ และวิวสวยโหด (แม้ฟ้าจะเน่า) ได้เป็นอย่างดี หลังผ่านทริปนี้มา ใจของผมและเพื่อนๆ ก็ร่ำร้องทริปเดินเขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ (2559) ก็ตั้งเป้าว่าจะเดินทางไปเที่ยวปีนเขากันที่ Patagonia อีกครั้ง หลังจากเมื่อปีก่อนได้ไปมา ก็ไม่ผิดหวังเลย เพราะ Patagonia มีเส้นทางเดินป่าที่สวยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ผมคิดว่า … ไปครั้งเดียว … ไม่พอจริงๆ ครับ
Patagonia
อยู่ทวีปอเมริกาใต้ เกือบจะใต้สุดของโลกโน่น เดินทางจากไทยไปใช้เวลานานมากๆ บินกันที 27-30 ชั่วโมง และเมื่อไปถึงยังต้องเจอกับสภาพอากาศที่แปรปรวนมากๆ อาจจะเจอ ร้อน ฝน หนาว และหิมะในวันเดียวกัน! ดังนั้นการจัดเตรียมเสื้อผ้า-อุปกรณ์สำหรับไปเที่ยว Patagonia นี้จึงยุ่งยากพอ สมควร หากสามารถขนทุกอย่างไปได้คงดีไม่น้อย แต่ด้วยเส้นทางเดินที่ไกลมากๆ ทำให้น้ำหนักอุปกรณ์ทุกๆ ขีดที่แบกเข้าไป มีความสำคัญต่อความสนุกที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น “หนักที่สุดที่แบกไหว และเบาที่สุดที่จะไม่ทำให้เหนื่อย จนทำให้หมดสนุก” จึงเป็นปรัชญาของการเที่ยวครั้งนี้ การเตรียม-ซื้อเสื้อผ้า อุปกรณ์จึงขอจดบันทึก และแนะนำเพื่อนๆ ดังนี้ครับ
ข้อแนะนำ:
เสื้อผ้า กางเกงที่สวม และรองเท้าที่ใส่เดิน ต้องสามารถ กันน้ำ กันลม ได้เป็นอย่างดี หลีกเลี่ยงเสื้อผ้ายีนส์, Cotton หรือผ้าขนสัตว์ที่เปียกน้ำง่าย
ซอยเสื้อผ้าเป็นชั้นๆ แบ่งเป็น Base layer, Mid layer, Soft-shell และ Hard-shell เพื่อให้สามารถถอดเปลี่ยนให้เหมาะกับแต่ละสภาพอากาศ
อะไรก็ประหยัดได้ แต่อย่าประหยัดกับอุปกรณ์ปีนเขา เลือกที่ดี ราคากลางๆ และเน้นน้ำหนักเบาไว้ก่อน อย่าตัดสินใจซื้อเพราะถูกนะครับ
การไปเที่ยวเดินเขา ไม่ใช่ไปเที่ยวห้าง หนทางข้างหน้าไม่มีร้านค้าให้จับจ่าย ต้องวางแผนให้ดี โดยเฉพาะอาหารการกินในแต่ละมื้อ
ฟิตร่างกายให้พร้อมสำหรับการเดินทางไกล และหัดกินอาหารนก (เช่น ถั่ว ผลไม้แห้ง Energy bar) เพื่อประทังชีวิตในป่า
กระเป๋าเป้ ควรเลือกที่เหมาะกับขนาดตนเอง และจำนวนวันที่จะเดินทาง แนะนำกระเป๋าเป้ขนาด 55-65 L สำหรับเดินทาง 3-4 วัน
ไม่ต้องขนเสื้อผ้าไปหลายชิ้น เอาเท่าที่จำเป็น 1-2 ตัวก็พอแล้ว เพราะเอาเข้าจริง เราต้องนอนเต้นท์ นอนกระท่อม แทบไม่ค่อยได้เปลี่ยนเสื้อผ้าหรอก
น้ำสะอาดสำคัญที่สุด อย่าลืมพกกระติกน้ำ ที่กรองน้ำสะอาด และรวมถึงแก้วน้ำ เพื่อจิบชา กาแฟอุ่นๆ นะครับ
อย่ารักพี่ เสียดายน้อง โดยเฉพาะการจัดชุดกล้อง – เลนส์ โดยให้เลือกเลนส์ที่คิดว่าจะได้ใช้มากที่สุด … ในระหว่างเดินผมแนะนำกล้อง Compact เหน็บเอวไว้ เวลาเจอวิวโหดๆ ค่อยใช้ DSLR ขึ้นมาจัดเต็มครับ อุปกรณ์กล้องนั้น ถือว่าหนักมากๆ กล้อง 1 + เลนส์ 2 + ขาตั้งกล้อง จะกินน้ำหนักเกือบๆ 5 กิโลกรัม แรกๆ ไม่รู้สึก … แต่ยิ่งเดิน ยิ่งอยากเขวี้ยงทิ้งทีละอย่างสองอย่าง
ถุงนอน จำเป็นมากเช่นกัน อย่าจัดถุงนอนเพราะราคาถูก ขอให้เก็บตังค์สอยถุงนอนชั้นดี ที่นุ่ม อุ่น และเบา ราคาประมาณหมื่นต้นๆ อาจจะแพงไปสักนิด แต่หากได้ใช้จริงๆ จะรู้ว่ามันช่วยชีวิตเราได้มากทีเดียว
เส้นทางเดินเขา Routeburn Track ที่ประเทศ New Zealand วิว สวยๆ ที่มาพร้อมกับอากาศแปรปรวน ตอนเช้าฟ้ายังใส เดินไปไม่นานฝนก็เทลงมา สักพักอากาศที่ร้อนๆ สักครู่ ก็เริ่มเย็นลง การเตรียมเสื้อผ้าให้กันลม และกันฝน 100% จึงสำคัญมาก
ตัวอย่างการจัดเสื้อผ้า ชุดกันหนาว เพื่อเตรียมเดินทางไปทริปถ่ายภาพ Patagonia
1: เสื้อ Base layer หรือเสื้อลองจอห์น ใส่พอดีตัว ยี่ห้อ Columbia รุ่น Omni Heat x 2 ชิ้น
2: เสื้อยืด ยี่ห้อ Columbia หรือเสื้อบอลก็ได้ครับ x 2 ชิ้น
3: Soft-shell jacket ผ้า Marino ของ Katmandu x 1 ชิ้น (+ Northface Quince Hooded 800 x 1 ชิ้น)
4: Hard-shell jacket ผ้า Gortex Pro ของ Katmandu (+ Northface Hyalite x 1 ชิ้น กันน้ำ ลมได้ดีเยี่ยม)
5: กางเกง Base layer ยี่ห้อ Columbia รุ่น Omni Heat x 1 ชิ้น
6: กางเกงเดินเขา ยี่ห้อ Columbia x 2 ชิ้น (ไม่กันน้ำครับ แต่ยืดหยุ่น สวมสบาย อาจเอากางเกงวอร์มแทนได้ครับ)
7: กางเกงกันฝน ขนาดพกพา สั่งซื้อจาก Internet ราคา 400 บาท เบา เล็ก และกันน้ำได้ดีมากๆ
8: กางเกงกันลม-ฝน-หนาว (ผ้าหนา คล้ายกางเกงสกี) ของ Columbia รุ่น Omni Heat x 1 ชิ้น
9: กระเป๋าพกพา เผื่อไว้ดึงอุปกรณ์ออกจากกระเป๋าเป้ เมื่อต้องการทิ้งไว้ที่โรงแรม หรือ Base camp
10: กระเป๋าจัดระเบียบ เวลาแยกของใส่เป้ เพื่อให้ดึงขึ้นมาใช้งานได้ง่าย และเป็นสัดส่วน
11: ถุงเท้าเดินเขา ผ้า Marino ยี่ห้อ Katmandu นุ่ม หนา สบายมากเวลาเดิน ที่สำคัญ ไม่ค่อยเหม็นอับ เคยใส่เดิน 3 วัน กลิ่นยัง OK
12: ผ้าเช็ดตัวผ้า Nano ของ Sea to Summit ขนาด M (เล็กกว่าผ้าเช็ดตัวขนาดปรกติครึ่งนึง) ซับน้ำได้ดีมาก เบา และแห้งไว
13: ถุงมือกันหนาว 2 ชั้น แยกเป็นชั้นใน 1 คู่ และชั้นนอก 1 คู่ (แต่หากมีรุ่นผ้า Gortex จะดีกว่า เพราะกันน้ำได้ดีมาก)
14: ถุงใส่ของใช้ส่วนตัว เช่น ยาสีฟัน แชมพู ยี่ห้อ Deuter
15: กระเป๋าเดินป่า ยี่ห้อ Deuter รุ่น 65 + 10 L
ภาพข้างต้น ยังไม่รวมอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพ อาหารแห้ง เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า และขาตั้งกล้อง เมื่อรวมกันทั้งหมด จะมีน้ำหนักประมาณ 20 กก. ++ ต่อคนเลยทีเดียว
กระเป๋าที่พี่นันท์ใช้สำหรับใส่กล้อง เลนส์ อุปกรณ์ถ่ายภาพอื่นๆ (เช่น Drone และ จอวิดีโอ) คือ กระเป๋า F-stop รุ่น Tilopa ใบเก่งใบนี้ครับ บอกเลยว่าเยี่ยม!
นอกจากนี้ เพื่อสะดวกในการจัด-เตรียมอุปกรณ์ในภายหลัง ผมได้ทำบันทึกการจัดอุปกรณ์ (Check-list) โดยสามารถ Download จาก Link ด้านล่างครับ