Breathtaking beauty of dolomite
รายละเอียดการถ่ายภาพ: Nikon D850 + Nikon 24-70mm. @ 70 mm. ตั้งค่า f/5.0, 1/200 วินาที, iso 800
แนวคิด/เทคนิค:
เมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ เราจะรู้สึกถึงคุณค่า ความอลังการของขุนเขาและม่านหมอกที่อยู่ตรงหน้า และอยากถ่ายทอดความรู้สึกนี้ให้คนอื่นได้รับรู้ ในช่วงที่แสงบนฟ้ากำลังเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ บนเขาลูกนั้น ผมอยู่โดดเดี่ยวอีกฟากเนินเขา ขณะที่เพื่อนร่วมทริปอีกคนเดินไกลออกไปยังเนินเขาอีกลูก และกำลังจดจ่อถ่ายภาพ … ส่วนผม เมื่อเห็นภาพตรงหน้า จึงรีบเปลี่ยนเลนส์ 14-24 มม. และประกบ 24-70 มม. แล้วซูมสุดกระบอกที่ระยะ 70 มม. (จังหวะนั้นคิดถึงเลนส์ 24-120 มม. มากเหลือเกิน)
ในชุดนั้น ผมเก็บทั้งภาพเดี่ยว และภาพ Panorama โดยคร่อมใบละ 35-50% ยิงแถวตั้งประมาณ 6-7 ใบ จากนั้นเก็บภาพอีก 2 ชุด เพราะเกรงว่า จังหวะกวาดภาพ (ไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง) อาจมีภาพบางใบไม่คมชัด แม้ผมจะระวังพอสมควร โดยพยายามดัน iso ไป 800 เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ 1/200 วินาทีแล้วก็ตาม … แต่ด้วยขนาดของ Sensor ที่มโหฬารถึง 45.4 MB ทำให้การสั่นไหวแม้เพียงเล็กน้อยภาพอาจไม่คมชัด จากกฎการถ่ายภาพเดิมที่บอกถึงความเร็วชัตเตอร์น้องสุดที่ใช้มือประคองถ่ายภาพได้คือ “1ส่วนทางยาวโฟกัส” เช่น ถ่ายภาพที่ระยะ 50 มม. ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์น้อยสุดที่ 1/50 วินาที แต่สูตรดังกล่าวใช้กล้องระดับนี้ไม่ได้แล้วครับ ควรใช้สูตร “1 ส่วน 3 เท่าความยาวโฟกัส”ซึ่งในกรณีนี้ผมใช้เลนส์ 70 มม. จึงควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ขั้นต่ำ 1/200 วินาทีขึ้นไป
ภายหลังกลับถึงบ้าน ได้ลองเช็คภาพดูพบว่า ภาพทั้งหมด 3 ชุดที่ถ่ายมา ใช้งานได้ 2 ชุด ส่วนภาพอีกชุด มีใบที่ไม่ชัด 1-2 ใบ … จึงขอแนะนำกันตรงนี้เลยครับ ถ่ายภาพ Panorama ควรถ่ายภาพเผื่อเสมอ ให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะสม และหากกางขาตั้งกล้อง อย่าลืมปิด VR บนกระบอกเลนส์ด้วยนะ … ส่วนภาพที่นำมาแชร์ใน Behide the scenes ครั้งนี้เป็นภาพนิ่งที่ได้จากแสงเย็นที่โคตรสวยวันนั้นครับ