กฎ 400 สำหรับกล้อง Nikon D500, D800e/810 และกล้อง APS-C ในการถ่ายภาพดาว/ทางช้างเผือก
ถ่ายภาพดวงดาว และทางช้างเผือกให้สวย ช่างภาพทุกคนรู้ว่า ควรเลือกใช้เลนส์ที่ f กว้างๆ เพื่อให้สามารถเก็บแสงดาวได้มากขึ้น อีกทั้งควรหลีกเลี่ยง iso ที่สูงเกินไป เนื่องจากจะเกิดสัญญาณรบกวน (Noise) จำนวนมากบนภาพถ่าย โดยปรกติ ผมมักใช้ค่า f ระหว่าง 1.4 – 2.8 ในการถ่ายดาว (ขึ้นกับเลนส์แต่ละตัวที่มี) และใช้ค่า iso สูงสุดไม่เกิน 3200 บนกล้อง Nikon D810 ส่วนการปรับตั้งค่า Shutter speed นั้น มักจะขึ้นกับเลนส์ที่ผมใช้ถ่ายภาพดาว โดยมีกฎคำนวณ Shutter speed ที่สามารถลากได้นานที่สุด = 400 หารด้วยทางยาวโฟกัสของเลนส์ เช่น ใช้ระยะ 20 mm. บนกล้อง Full frame ถ่ายดาว จะได้ Shutter speed ราวๆ ไม่เกิน 20 วินาที ซึ่งเป็นค่าเปิดหน้ากล้องที่นานที่สุด ที่จะเห็นดาวหยุดอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนจนเห็นเป็นเส้น (จริงๆ แล้วหากเรา Zoom ภาพที่ 100% ก็ยังคงเห็นดาวเคลื่อนที่เล็กน้อยนะ)
แต่หากเป็นกล้องตัวคูณ เช่น Nikon D500 ก็อย่าลืมคูณค่า Crop factor 1.5 เพิ่มเติมนะครับ
ก่อนหน้านี้ ราวๆ 3-4 ก่อน ผมเคยได้รับคำแนะนำจากช่างภาพ Landscape ท่านอื่นว่า ให้ใช้กฎ 600, 550 และ 500 ตาม Internet … เมื่อลองทำตามทุกๆ กฎข้างต้น ก็พบว่า ตัวเลขที่มากกว่า 400 เมื่อนำมาหารทางยาวโฟกัส ล้วนทำให้เราเปิดหน้ากล้องที่นานเกินไปจนเห็น “ดาวเคลื่อนที่เป็นเส้น”
หากมองโลกในแง่ดี ในฐานะที่เราไม่ใช่กลุ่มคนที่ละเอียดทุกพิกเซล (Pixel peeped people) การใช้กฎ 500 – 600 ก็จะทำให้เราเปิดหน้ากล้องได้นานขึ้น เช่น ภายใต้กฎ 600 เราเปิดหน้ากล้องได้นานถึง 30 วินาที เมื่อใช้เลนส์ 20 mm. ซึ่งทำให้แสงเข้ากล้องได้มากขึ้น และเราสามารถลดค่า iso ให้ต่ำลง ผลที่ได้คือภาพเนียนขึ้น (เพราะ Noise ลดลงนั่นเอง) ภาพที่พิมพ์ขนาด 8×10 นิ้ว หรือแม้แต่การย่อภาพเพื่อนำเสนอผ่าน Social Networking เช่น Facebook, Instragram ก็ยังพอเห็นดาวเป็นจุด แทบไม่เห็นการเคลื่อนที่ของดาวเลย (เพราะภาพถูกย่อมาแสดงในขนาดเล็กลง)
นอกจากนี้ หากเราเป็นช่างภาพที่หากินกับการขายภาพ พิมพ์ภาพขนาดใหญ่ และต้องการภาพดาว ที่เป็นจุดดาว (หรือใกล้เคียงกับจุดดาว เมื่อ Zoom ภาพ 100% หรือพิมพ์ภาพขนาดใหญ่ เช่น 20×30 นิ้ว) … เราคงไม่ต้องการให้ดาวสวยๆ เคลื่อนที่เป็นเส้นหรอกครับ … ดังนั้น กฎที่ปลอดภัยไว้ก่อนสำหรับผม คือ กฎ 400
[ภาพที่ 1: ไม่ว่าจะใช้กฎ 400 หรือสูงกว่านั้น เมื่อลาก Shutter speed เป็นเวลานาน การบันทึกภาพดาว ย่อมได้แสงดาวที่เคลื่อนที่เป็นเส้น เช่น ในภาพนี้ใช้กฎ 400 โดยถ่ายภาพด้วยเลนส์ 20 mm. เป็นเวลา 20 วินาที ภาพด้านซ้ายมือ เป็นภาพเต็มที่ย่อลง Social Networking ซึ่งเราจะเห็นดาวเป็นจุด ขณะที่ภาพ Zoom 100% จะเห็นดาวเริ่มเป็นเส้น แต่ไม่มากนัก และภาพด้านล่างขวามือ แสดงภาพที่ Zoom ในระดับ Pixels ที่แสดงถึง การเคลื่อนที่ของดาว ยาวประมาณ 5-6 pixels]
Lake Tekapo, New Zealand
[ภาพที่ 2: Nikon D800e + Nikon 24 mm. ถ่ายที่ f/1.4, Shutter speed 15 วินาที ซึ่งหากเทียบตามกฎแล้ว จะเปิดหน้ากล้องน้อยกว่ากฎ 400 หรือลองคำนวณคือ 24 * 15 = 360 sec. จากภาพจะเห็นดาวเป็นจุด และเมื่อ Zoom ภาพไปที่ 100% เราจะเห็นดาวเคลื่อนที่เป็นเส้นเล็กน้อย]
Patagonia, Argentina
[ภาพที่ 3: ภาพ Panorama แนวตั้ง แต่ละใบถ่ายจากเลนส์ Nikon 20 mm. ที่ f/1.8 และลาก Shutter speed นาน 20 วินาที ตามกฎ 400]
เรื่องน่ารู้อีกนิด สำหรับการเคลื่อนที่ของดาวในภาพ แม้เราจะใช้กฎ 400 แสงดาวในภาพก็ยังคงเคลื่อนที่อยู่ดี … อีกทั้งการเลือกใช้กล้อง (Full frame หรือตัวคูณ) และเลนส์ช่วงต่างๆ ก็ส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของดาว … เท่าที่อ่านข้อมูลใน Internet ที่เขียนอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้น่าสนใจ คือ บทความของ http://starcircleacademy.com ที่ปอกเปลือกกฎ 600 โดยอธิบายว่า บนกล้อง Full frame (ที่ยกตัวอย่างคือ 5D Mark II) เมื่อถ่ายภาพดาว แสงที่บันทึกลงในภาพจะเคลื่อนที่จาก Pixel นึง ไปอีก Pixel นึง ในเวลาราวๆ 5.3 วินาที ดังนั้น หากเราใช้เลนส์ 20 mm. และลองเปิดหน้ากล้องตามกฎ 500 – 600 ข้างต้น เราจะเปิดหน้ากล้องได้นาน 25 – 30 วินาที ซึ่งทำให้แสงดาว เคลื่อนที่ไปราวๆ 5 – 6 pixels เลยทีเดียว แต่หากเราลดตัวเลขลง โดยใช้ กฎ 400 จะทำให้เส้นดาวที่เคลื่อนที่เหลือเพียง 4 pixels
จุดนี้ทำให้รู้ความจริงที่ว่า หากต้องการให้ดาวเป็นจุด ต้องถ่ายภาพโดยใช้ Shutter speed ไม่เกิน 5.3 วินาที … หากเปิดหน้ากล้องนานกว่านี้ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเคลื่อนที่ของดาวได้เลย ดังนั้นในการถ่ายภาพทางช้างเผือก (หรือดาวจุด) สิ่งที่ควรคำนึงถึง ก็คือ “ระดับที่พอรับได้ของดาวที่เริ่มเคลื่อนที่ (Accepted length of star trails)” และ ณ จุดนั้น สำหรับกล้อง Nikon D500, D800e, D810 และกล้อง APS-C ทั่วไป คือ กฎ 400 ครับ
สรุปก่อนจบบันทึกนี้:
โลกหมุนรอบตัวเอง ทำให้ดาวเคลื่อนที่ตลอดเวลา
การเปิดหน้ากล้องแบบลาก Shutter speed ทำให้มีการบันทึกแสงดาวจากจุด เป็นขีด ความยาวของขีดจะขึ้นกับระยะเวลาในการเปิดหน้ากล้อง
ยิ่งเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมากขึ้น เมื่อเปิดที่ระยะเวลาเท่ากัน จะทำให้แสงดาวในภาพ ยาวขึ้น
การถ่ายภาพทางช้างเผือก แนะนำกฎ 400 หารด้วยความยาวโฟกัส ค่าที่ได้คือค่า Shutter speed สูงสุดที่ควรใช้
ขนาดของ Sensor ที่ต่างกัน จะส่งผลต่อความยาวของดาว เช่น กล้องตัวคูณ เมื่อใช้ Shutter speed เท่ากับกล้อง Full frame จะมีเส้นดาวยาวกว่า
แต่ว่า!! ขนาด Resolution ที่ต่างกัน ไม่มีผลต่อกฎ 400 เลย เช่น ไม่ว่าจะเป็นกล้องขนาด 24 MP หรือ 36 MP ก็อยู่ภายใต้กฎเดียวกัน
แม้แต่กฎ 400 แสงดาวที่บันทึกได้ก็ยังเคลื่อนที่ และจะเห็นชัดขึ้นเมื่อ Zoom ภาพ 100% หรือพิมพ์ภาพขนาดใหญ่
เพิ่มเติม: สำหรับการถ่ายดาวหมุน ควรถ่าย Shot สั้นๆ เช่น 15-30 วินาที แล้วจึงนำภาพแต่ละใบมารวมกัน ทั้งนี้ … การเว้นช่วงเวลาที่ถ่ายดาวหมุน (Interval time) ไม่ควรเกิน 3 วินาที ไม่อย่างนั้นจะเกิดช่องว่างในภาพดาวหมุนที่นำมาต่อกัน