Bombo’s Golden Splash

รายละเอียดการถ่ายภาพ:

กล้อง: Nikon Z 8 + Nikkor 14-24 mm f/2.8

Setting: f/5, 1/4 sec., iso 2500 @ 24 mm

Filter: Nisi Soft GND 0.9 ลดแสงท้องฟ้า 3 stops

แนวคิด/เทคนิค:

ติดกับ Bombo Beach ที่ Sydney มีจุดที่กล่าวขานกันในหมู่ช่างภาพว่า “Perfect place to test out your photography skills“ นั่นคือ Bombo Headland Quarry โดยเฉพาะความสวยงามของแสงเช้า และยิ่งเป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด 1.5 เมตร+ เป็นอะไรที่มันส์ และท้าทายมากๆ

คลื่นแต่ละลูกที่ซัดเข้ามายังผาหินที่ตั้งตะหง่านอยู่ข้างหน้า เราจะได้ยินเสียงดังกึกก้องเหมือนฟ้าร้อง ครืนๆ วิ่งเข้ามาพร้อมเสียงปะทะ พร้อมๆกับละอองน้ำที่พัดมาตามลมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณ นับเป็นประสบการณ์ที่พลาดไม่ได้หากใครได้มาเที่ยวถ่ายภาพที่ Australia

เช้าวันนั้น ผมปีนไปยังจุดถ่ายภาพมุมสูง หามุมอยู่สักพัก ก็หันไปเจอเพื่อนๆ กำลังกดชัตเตอร์ล่าคลื่นกันอย่างเมามัน ดูด้วยสายตา ผมเห็นแนวหินวิ่งเข้าจากขวาไปซ้าย แสงอาทิตย์สาดพื้นผิวของหินและทะเลเกิดมิติสวยงาม ของ Main Rock Wall ด้านหลังที่มีคลื่นสูงนับ 10 เมตรซัดเข้าฝั่งอย่างต่อเนื่อง ผมต้องการให้น้ำเป็นเส้นสายสวย จึงเริ่มตั้งค่ากล้องจาก Shutter speed ที่ 1/4 วินาที หน้าเลนส์สวมฟิลเตอร์ครึ่งซีกของ Nisi SoftGND 0.9 ลดแสงท้องฟ้า 3 stops ใจอยากใช้รูรับแสงที่ f/8 ไม่ก็ f/11 แต่ค่า iso ดีดสูงเกินไป จึงใช้ค่ารูรับแสงที่ f/5.0 แทน และได้ค่า iso ที่ 2500

* ด้วยเลนส์ 24 mm ถ่ายจากระยะที่ไกลจากจุด Focus (คนที่ยืนถ่ายภาพ) เกิน 10 เมตร ค่ารูรับแสงที่ f/5 เมื่อโฟกัสที่คน จะทำให้ภาพชัดถึง Infinity ได้สบายๆ (Note: ค่า Hyperfocal ของเลนส์ 24 mm f/5 อยู่ที่ 3.84 เมตร บนกล้อง Z 8 : นั่นคือ เมื่อเราใช้เลนส์ระยะนี้โฟกัสที่วัตถุ 3.84 เมตรจากกล้องถ่ายภาพ … ภาพจะคมชัดตั้งแต่ 1.94 เมตร จนถึง Infinity) *

ในการถ่ายภาพ Landscape ผมพยายามเก็บแสง Highlight และ Shadow มาให้ได้ จะทำให้การทำภาพสะดวกและภาพเนียนกว่า หากสภาพแสงแตกต่างกันมากเกินไป ผมมี 2 ทางเลือก ที่มีข้อดีข้อเสียต่างกันไปคือ

  1. การถ่ายภาพคร่อมแสง 2-3 ใบ ที่มีค่าแสงแตกต่างกัน 2 stops ทางเลือกนี้มีข้อดีคือความสะดวก ไม่ต้องแบกฟิลเตอร์ แต่ต้องเสียเวลาแต่งภาพมากขึ้น

  2. การใช้ฟิลเตอร์ครึ่งซีก เพื่อลดแสงในส่วนท้องฟ้าลงให้อยู่ในขอบเขตที่เราพอได้ภาพที่แสงไม่ล้นจนเกินไป มีข้อดีคือ ได้ฝึกฝนการถ่ายภาพระดับที่สูงขึ้นด้วยฟิลเตอร์ และลดความซับซ้อนในการทำภาพลงไปได้มาก แต่ข้อเสียคือต้องประกอบฟิลเตอร์เข้ากับกล้องให้ดี อาจทำให้ไม่คล่องตัวนักสำหรับมือใหม่ และฟิลเตอร์เองก็มีราคาสูงพอสมควร หนึ่งชุดหากจัดให้ครบตามความจำเป็น อย่างน้อยคือ 5,000 บาท+ แถมเราต้องแบกชุดฟิลเตอร์เพิ่มเติม ทรมานหลังขึ้นอีก

ภาพ: ภาพต้นฉบับ (ด้านซ้าย) จะสังเกตุว่า ผมเก็บแสงมาโดยไม่หลุด Highlight และยังพอเก็บเงาในส่วนมืดมาได้ และภาพหลังการปรับแต่ง (ด้านขวา) เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ผมแต่งภาพโดยกด Auto ในเบื้องต้น จากนั้น เช็คค่าปรับแต่งในแต่ละ Slide แล้วปรับแต่งตามต้องการ

ภาพ: แนวคิดการทำภาพ แบ่งส่วนต่างๆ ของภาพ เพื่อแก้ไขให้เป็นไปตามภาพสุดท้ายที่ต้องการ (Pre-visualizaiton)

Pre-visualizaition คือ การมองเห็นภาพล่วงหน้าว่าเราต้องการภาพให้ออกมาแบบไหน ในภาพนี้ก็เช่นกัน ภาพตั้งต้นที่ถ่ายมา ผมออกแบบการทำภาพไว้ตามภาพด้านล่าง แรกเริ่มด้วยการทำความสะอาด ลบสิ่งรบกวนในภาพลง จากนั้น เพิ่มมิติให้กับภาพ โดยกดแสงด้านหน้าให้มืดลงเพื่อให้สายตาไล่ภาพจากล่างขึ้นบน ผมได้เพิ่มมิติให้กับฉากหน้าด้วยการใส่แสง + ความฟุ้งให้กับเส้นนำสายตา (เส้นสีเหลือง), ใส่รายละเอียดให้กับน้ำทะเล และปิดท้ายด้วย การลดแสงบริเวณท้องฟ้า แล้วเพิ่มความสดของสี (สีแดง + เหลือง) ให้กับส่วน Highlight

หวังว่า Behind the scene ใบนี้ พอจะให้เพื่อนๆ เห็นแนวคิด + เข้าใจการทำงานภาคสนามของช่างภาพสาย Landscape ได้มากขึ้นครับ

Next
Next

Her Playground @Turimetta Beach