Her Playground @Turimetta Beach

รายละเอียดการถ่ายภาพ:

กล้อง: Nikon Z 8 + Nikkor 14-24 mm f/2.8

Setting: f/8, 1/200 sec., iso 800 @ 24 mm

Filter: Nisi Soft GND 0.9 ลดแสงท้องฟ้า 3 stops

แนวคิด/เทคนิค:

Turimetta Beach เป็นหาดยอดนิยมของช่างภาพ Seascape อยู่ทางตอนเหนือของ Sydney เดินทางด้วยรถยนต์เพียง 35 นาที เป็นหาดที่ผมไปบ่อยที่สุดนับตั้งแต่เริ่มหัดถ่ายภาพ หากคิดว่าฟ้าสวย ไม่อยากเดินทางไปไกลๆ ก็มักชวนเพื่อนๆ มาถ่ายภาพที่หาดนี้ ลักษณะหาดเป็นหาดทราย มีก้อนหินน้อยใหญ่รายเรียงสวยงาม บางช่วงเราจะเห็นก้อนหินโผล่พ้นเนินทราย ให้มุมที่สวยงาม แต่บางช่วง ในฤดูฝน คลื่นลมแรง น้ำทะเลก็จะซัดทรายขึ้นมาถมก้อนหินหายไปเกือบทั้งหมดกลายเป็นหาดทรายที่ราบเรียบ (และน่าเบื่อ) หาด Turimetta Beach อยู่ติดกับ Narabeen head มีมุมให้ถ่ายภาพ 3-4 จุดสำคัญ โดยเฉพาะตรงรอยต่อระหว่าง Turimetta และ Narabeen มีหินฉากหน้า และชั้นหินเรียงความสูงเหมือนน้ำตกขนาดเล็ก ให้ภาพที่สวยงาม แปลกตา

ต้นมิถุนาที่ผ่านมา (2567) เราเลือกไปเก็บภาพ Turimetta อีกครั้ง รอบนี้มีสมาชิกจากเมืองไทยมาร่วม Workshop กัน 6 คน ฝนตกปรอยๆ มาต้อนรับตั้งแต่ยังไม่ทันตั้งขากล้อง และแน่นอนหาดนี้ไม่เคยทำให้ผิดหวัง อาศัยโชคเล็กๆ และการเตรียมตัวอ่านสภาพอากาศมาก่อน ก็พอจะรู้ว่าวันนี้ฟ้าน่าจะสวย เมฆกลางและเมฆต่ำบาง แต่เมฆสูงหนา ขณะที่แสงยังไม่ออก เพื่อนๆ แต่ละคนก็เตรียมกล้อง ถ่ายคลื่นที่ซัดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง น้ำขึ้นสูงสุดราว 7 โมงเช้าในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นพอดี น้ำสูง 1.3 m นับว่าน่ากลัว หากยืนผิดที่มีสิทธิ์เปียกทั้งคนและกล้อง

ซีนที่วางไว้ คือ ช่างภาพถ่ายทะเล บนแผ่นหินที่มีน้ำซัดเข้ามา จับจังหวะน้ำปะทะ หรือน้ำไหลกลับสวยๆ น่าจะทำให้สมาชิกได้ภาพบ้าง รอบนี้มีคุณหมอมีมี่ มาเป็นแบบ จัดแจงมุมให้ยืนถ่ายภาพ จากนั้น ก็ให้สมาชิกเข้ามุมกดภาพกันตามสะดวก ส่วนผมทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตะโกนบอกจังหวะคลื่นที่ม้วนเข้ามา รอบนี้มีเรื่องที่ต้องตัดสินใจว่าจะใช้ขาตั้งกล้อง หรือไม่ใช้ ด้วย Shutter speed 1/4 - 1/8 s. (แล้วแต่การตั้งค่ากล้องของสมาชิกแต่ละคน) จริงๆ ควรใช้ขาตั้งกล้อง เพื่อความคมชัด แต่ด้วยคลื่นกระแทกเข้าไว มีแรงดูดของน้ำไหลกลับพอสมควร และการเข้ามุมที่เข้าไปพร้อมๆ กันในช่วงจังหวะแสงสวย การใช้ขาตั้งกล้องอาจเกิดอุปสรรคในการยกขึ้นลง และอาจเสียจังหวะ ล้มทับกันได้ … ผมจึงเน้นความคล่องตัว แจ้งสมาชิกให้สะพายกล้องคล้องคอ จับกล้องให้มั่น และยิงภาพต่อเนื่อง ยิง 5 เข้า 1 ก็ยังดี และปลอดภัยกว่าการใช้ขาตั้งกล้องในมุมนี้ … เราเน้นจังหวะน้ำไหลกลับ พอคลื่นกระแทกเข้ามา ก็ตะโกนให้สมาชิกยกกล้อง พอน้ำเริ่มไหลกลับ ก็ให้วางกล้องถ่ายภาพ เปียกปอนกันไปครึ่งตัว แต่กล้องทุกคนปลอดภัย สนุกสนาน สร้างรอยยิ้มให้แต่เช้า เพราะมุมดี แสงดี ได้ภาพติดกล้องกลับบ้าน

ภาพ: เบื้องหลังการทำงาน ผมพาสมาชิกเข้ามุม ยืนคุมอยู่ด้านหลัง ประคองพี่ๆ ไม่ให้ล้มจากแรงปะทะของคลื่น/แรงดูดกลับของน้ำ พร้อมบอกจังหวะถ่ายภาพ และจังหวะยกกล้องให้พ้นน้ำ (จากคลื่นที่ซัดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง) จุดนี้ค่อนข้างอันตราย เนื่องจากจังหวะน้ำไหลกลับมีแรงดูดของน้ำ พื้นทรายด้านล่างก็ยวบลงเรื่อยๆ หากถ่ายภาพเพลินมีสิทธิ์กล้องเปียก เสียหายหนักแน่นอน [ต้องขอขอบพระคุณภาพเบื้องหลังสวยๆ จากพี่เอนก ในครั้งนี้ครับ]

เช้านี้ผมแทบไม่ได้ถ่ายภาพจากมุมนี้เลย แสงสวยมาก แต่ถือว่าได้ทำหน้าที่ Mentor อย่างเต็มที่ และดีใจที่เพื่อนๆ ได้ภาพสวยๆ กลับมา ผมเปิดดูภาพใน HDD พบว่า มีภาพตอน Test scene ที่พอดูได้ ตอนนั้นแสงกำลังจะมา จัดวางคุณหมอมีมี่เข้ามุมแล้ว ผมกดถ่ายภาพเพื่อวางมุม โดยตอนนั้นยังไม่ได้ปรับหน้ากล้องดีนัก จากข้อมูลยัง A mode ใช้ iso auto 800 ที่ f/8 ได้ค่า Shutter speed 1/200 (ชดเชยแสง -0.7ev) พร้อมใส่ฟิลเตอร์ครึ่งซีก จำได้ว่าช่วงก่อนแสงมา ง่วนอยู่กับการช่วยสมาชิกดูมุม ปรับค่ากล้อง จังหวะ Test scene ก็ยกกล้องขึ้นเล็งๆ แล้วถ่ายมา 3-4 ใบ จากนั้นก็พาสมาชิกเข้ามุม น่าเสียดายที่ไม่ได้ปรับตั้งกล้องตามสภาพแสงที่ควรจะเป็น (เวลาไม่มีเลย) ภาพนี้ควรตั้งค่ากล้อง iso 64 และ Shutter speed 1/8 ที่รูรับแสง f/8 น่าจะได้ภาพที่เนียน สวยกว่านี้

ภาพ: ต้นฉบับ RAW ที่ถ่ายมาจากกล้อง Nikon Z 8

ภาพ: การปรับแต่งเบื้องต้นใน Lightroom เปิดแสงเงา และใช้ Masking เพื่อเพิ่มส่วนสว่างบริเวณพระอาทิตย์ ขณะที่กดแสงบน-ล่างลง เพื่อเพิ่มมิติให้กับภาพ

ภาพ: การปรับแต่งใน Photoshop เป้าหมายเพื่อย้อมโทนส่วน Highlight และการ Dodge (เพิ่มส่วนสว่าง) บริเวณ Highlight ให้ชัดขึ้น และมีโทน Warm มากขึ้น

ในการแต่งภาพ ผมไม่ได้กำหนดโทนภาพตั้งแต่ต้น ซึ่งโทนภาพอาจมีได้หลากหลาย สำหรับผมมองหลักๆ คือ ภาพโทนมืด หรือ ภาพโทนสว่าง สิ่งที่จะกำหนดโทน คือ วัตถุดิบตั้งต้น คือ แสงที่หน้างาน และไฟล์ภาพที่เราถ่ายเก็บมา อย่างกรณีภาพนี้ เป็นภาพย้อนแสง ผมถ่ายมาติด Under ไปเกือบ 1.5 stops สิ่งที่ดีคือ Highlight ไม่หลุด สิ่งที่ไม่ดีคือ เกือบทุกอย่างเละไปหมด มุมภาพไกลไป การตั้งค่ากล้องผิดเพี้ยน และไม่ได้ถ่ายชดเชยมาเลย ต้องพึ่งไฟล์ Nikon ในการทำภาพล้วนๆ และสิ่งที่ตามมาคือ Noise มากมายจากการยำภาพใน Post processing ดังนั้น ภาพนี้โทนที่ผมอยากได้คือ โทนออกมืด ตั้งใจทำ Dodge เฉพาะส่วน Highlight เพื่อเล่นกับมิติแสงโดยเฉพาะ

ผมปรับแต่งภาพเบื้องต้นใน Lightroom โดยเปิดแสงเงา ดันสีผ่าน Vibrance & Sat. จากนั้นใช้เครื่องมือ Mask เพื่อเน้นทิศทางแสงอยู่ 2 สวนหลักๆ คือ 1. ส่วนสว่างของพระอาทิตย์ ปรับให้สว่างขึ้น ติดโทนส้ม และ 2. ปรับลดแสงส่วนบนท้องฟ้า และส่วนล่างตรงหาดทรายลง โดยกด Exposure (Midtone) ลง แต่เปิด Shadows ส่วนนี้ขึ้น + ใส่โทนสีน้ำเงินเข้าไปนิดหน่อย จากนั้นใช้คำสั่ง Denoise เพื่อลดสัญญาณรบกวนในภาพลง ซึ่งเครื่องมือนี้ดีมากๆ แนะนำครับ

พอได้ภาพตั้งต้นจาก Lightroom ผมก็โยกภาพไปทำงานใน Photoshop เน้นการ Dodge เฉพาะส่วน Highlight และใส่ Color Balance ในส่วน Highlight ให้ติดโทนเหลืองส้มแดง เพิ่มขึ้น (+Yellow, + Red, + Purple) สุดท้ายก็ Export for Web 2560px (ไม่ Sharpen ภาพเพิ่ม) เป็นอันจบ

ภาพนี้ถือเป็นความผิดพลาดของผมที่ต้องเรียนรู้กันต่อไป ในหน้างานที่เวลาจำกัด เราต้องพยายามลบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เพราะผมเชื่อมั่นเสมอว่า ความแตกต่างระหว่างมือใหม่ และมืออาชีพ คือ ปริมาณความผิดพลาดที่เกิดขึ้นหน้างาน ที่ มืออาชีพ บริหารจัดการ และลดปัญหาได้มากกว่า ส่งผลให้ผลงานออกมาดีกว่า … ผม และพวกเราทุกคนยังคงต้องเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองต่อไป … สู้ๆ ครับ

Previous
Previous

Bombo’s Golden Splash

Next
Next

Tide challenge at Bombo beach