People of Pakistan : Nikkor 50/1.2

ปลายเดือนตุลาคม 65 ที่ผ่านมา พี่นันท์แว๊บไปเที่ยวถ่ายภาพทางทิศหนือของปากีสถาน ครอบคลุมเมือง Skardu, Gahkuch, Gilgit, และ Hunza รวมถึงเมืองทางทิศตะวันออกที่มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน นั่นก็คือ Lahore นอกจากวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม อลังการ … รอยยิ้ม และการต้อนรับที่อบอุ่นของชาวบ้าน ก็เป็นอีกเสน่ห์ของปากีสถานที่ยากจะลืม

ทริปนี้ พี่นันท์ตั้งใจใช้ Nikon Z 7 ii ประกบกับเลนส์ Nikkor 50 mm. f/1.2 S เพื่อเก็บภาพบุคคลในตลาด ร้านค้า หรือสองข้างทางที่ได้พบเห็น ภาพเกือบทุกใบเปิดรูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.2 ซึ่งทำให้ส่วนที่อยู่นอกระยะโฟกัสเบลอ เนียนสวยงาม … แม้จะถ่ายภาพคนเป็นกลุ่ม ที่ควรลดรูรับแสงเพื่อเพิ่มระยะชัด แต่รอบนี้ขอถ่ายภาพตามใจฉัน งกเอฟแทบทุกใบ! แถมตั้งโจทย์ให้ตัวเองต้อง Crop ภาพแบบ 16:9 ในอารมณ์ Cinematic ด้วย

ปะ…ไปเดินเที่ยวชมตลาดปากีฯ พร้อมกันครับ

ยามเช้า ที่ตลาดแถว Gahkuch อากาศหนาว สดชื่น เดินริมถนน ได้กลิ่นทอดโรตีนาน ลอยเตะจมูก หอมมาก

ด้วยประชากรกว่า 235 ล้านคน และติดอันดับประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นรองจากจีน อินเดีย อเมริกา และอินโดนีเซีย ด้วยภูมิประเทศที่มีเทือกเขาสูงชัน แห้งแล้ง มีพื้นที่เกษตรกรรมมีจำกัด พร้อมปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ทำให้คนส่วนใหญ่ของปากีสถานมีฐานะยากจน … เราจึงพบเด็ก ผู้หญิง คนชรา ออกมาเร่ร่อน ขอทานเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในแหล่งชุมชนบริเวณ Raja Bazaar ใน Islamabad และ Lahore Bazaar ใน Lahore

Raja Bazaar คือ Traditional market ที่มีเสน่ห์ที่สุดใน Islamabad คนเยอะมากตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ผู้คนแออัด รถติดยาวเหยียด ในภาพคือรถมอร์เตอร์ไซด์แปลงพ่วงเป็นสามล้อ นั่งได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เสียดายไม่มีโอกาสใช้บริการ เพราะเดินเองเร็วกว่า

หาบเร่ แผงลอยตามตลาดมีเกลื่อน หากเป็นแผงก็จะวางขายสินค้าใกล้เคียงกัน ทั้ง ผัก ถั่ว ผลไม้ เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ (หรือที่เรียกว่า Ratail store Clustering) ส่วนมากของจะหน้าตาเหมือนกันเลย อาศัยลูกค้าเยอะ แผงใครแผงมันพออยู่ได้ นอกจากนี้ยังมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ที่แบกสินค้า เช่น ไม้ฟืน ดอกไม้ แว่นตา หมวก สมุนไพร อาหาร ชา ถั่ว และบุหรี่ ให้บริการถึงที่ สังเกตเห็นผู้ชายปากีฯ ยังนิยมสูบบุหรี่ แต่ไม่ค่อยชอบให้เราถ่ายรูปเค้าตอนสูบบุหรี่ หากเห็นกล้องหันไปส่อง จะรีบเก็บบุหรี่โดยลดมือลง และแอ๊คชั่นท่าอื่นให้ถ่ายรูปแทน

Note: ราคาตลาดของบุหรี่ 1 ซอง (20 มวน) ที่ขายในตลาด ราคาประมาณ 50-75 รูปี แต่หากเป็นบุหรี่นำเข้า เช่น Marlboro มีราคาประมาณ 250 รูปี หรือ 1.25$

สาวๆ หลบไป … หนุ่มปากีฯ ขอยึดคืนพื้นที่ถ่าย Portrait บ้าง คงเป็นเพราะความเจริญยังไปไม่ถึง มือถือที่ใช้ถ่ายรูป (คุณภาพสูง) และกล้องดิจิตอล* ยังไม่แพร่หลายนัก ทำให้ผู้ชายที่นี่ ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น หรือวัยกลางคน สู้กล้องมากๆ ขอแค่คุณสะพายกล้องเดินผ่าน ต้องได้ยินเสียงเรียก “หนีห่าว (สวัสดี = ภาษาจีน)” หรือ Mister Mister ให้เราหันไปถ่ายรูปให้ นับเป็น Golden opportunity หรือสวรรค์ของนักถ่ายรูปโดยแท้

ร้านขายน้ำอ้อยแห่งหนึ่งบริเวณหัวมุมตลาด ร้านนี้ขายดี ลูกค้าแวะมาอุดหนุนไม่ขาดสาย พ่อค้านำอ้อยมาคั้นสด กรองใส่แก้ว และบีบมะนาวตามอีก 1 ลูกใหญ่ .. ไม่แน่ใจในรสชาด เพิ่งรู่ว่ามันฟิวชั่นกันได้ด้วย ทีหลังต้องขอลองสักหน่อย

นอกจากร้านน้ำ อาหารว่างอีกอย่างที่เห็นแทบทุกตลาดคือ “ข้าวโพดคั่ว” บ้านเราจะเป็น “ข้าวโพดปิ้ง” บนตะแกรง แต่ที่นี่ พ่อค้าจะแกะเปลือกข้าวโพด แล้วคั่วฝักกับทรายร้อน อารมณ์ประมาณคั่วเกาลักที่เยาวราชครับ

เป็นอีกครั้งที่โชคดี ได้ถ่ายภาพชาวปากีขายผ้าชุดนี้ได้ แรกๆ ไม่กล้ายกกล้องถ่ายรูป เพราะคนกลางท่าทางดุ แต่เมื่อเห็นบริบทโดยรอบเสมือนฉากในภาพยนตร์ที่สวยงาม ผ้าแต่ละมัดจัดวางไล่โทนสีเป็นระเบียบ การนั่งและยืนไม่ซ้อนทับ เลยยกกล้องเล็ง เท่านั้นหล่ะ คนกลางอมยิ้ม แอ๊คชั่นโดยพร้อมเพรียง … ในภาพด้านหลัง ชายชราในชุดขาวที่เห็นไกลสุดนอกระยะโฟกัส โบกมือทักทาย และเรียกให้เข้าไปหา หลังจากถ่ายภาพอีกชุดใหญ่หลังร้าน … เพิ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นฝ่ายบริหารของตลาด Raja Bizaar! มิน่า ราศีจับมาก :)

เดินผ่านร้านนี้ระหว่างกลับที่พัก เห็นการจัดเรียงผลไม้แล้วสวยดี หลายๆ ร้านมักนำกล่องผลไม้มาจัดวางเหมือน Stadium เป็นชั้นๆ โดยแยกสินค้าเป็นกลุ่มตามเฉดสีอย่างสวยงาม ในขณะที่ร้านคุณตาคนนี้ เป็นแผงลอยรถเข็นริมถนน ได้นำผลไม้มาวางบนถาดขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วยกิ่ง/ใบไม้อย่างสวยงามเสมือนเพิ่งเด็ดออกจากต้น

สีสันยามค่ำคืนริมทางเท้า พี่ Taxi นั่งพักกินถั่ว สังเกตเห็นในรถมีไฟสีนีออนประดับไว้เพิ่มแสงสีสวยงาม ที่นี่ยานพาหนะรับจ้างส่วนมากจะตกแต่งให้สวยงามเพื่อเรียกความสนใจ และเพิ่มมูลค่าให้กับการให้บริการ … รถสวยมักได้ไปต่อ ลูกค้าจะใช้บริการมากกว่ารถจืดๆ … เราจึงเห็นรถ Taxi มักติดไฟประดับ, รถสามล้อเครื่องติดพวงมาลัย มีพวกเหล็กหลากสีที่ท้ายรถ, รถบรรทุกตกแต่งรอบคันทั้งทาสี และติดสติ๊กเกอร์สีสันสุดสวย

ด้วยเสน่ห์แห่งสีสันบนรถบรรทุก ผมจึงขอให้ไกด์พาไปถ่ายรูปที่อู่แต่งรถบรรทุกที่ Islamabad ซะเลย บรรยากาศรอบๆ เหมือนทุ่งรังสิต แตกต่างที่มีอู่ซ่อมรถขนาดกลาง - เล็กกระจายสองข้างทาง ขับรถวนหาอยู่ครึ่ง ชม. ก็ไปพบกับอู่แต่งรถแห่งนี้ มีคนงานกำลังมะรุมมะตุ้มแต่งรถบรรทุกคันใหญ่ พวกเรารีบลงจากรถตั้งใจไปมุงดูการทำงานของช่างแต่งสีรถ … เข้าใจว่าคงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพที่อู่ … แป๊บเดียวพื้นที่โล่งหน้าอู่ก็เต็มไปด้วยคนงานร่วม 20 คนมายืนมุงดูพวกเราแทนซะงั้น :)

กว่าจะนำรถบรรทุกสุดสวยออกไปรับงานได้ เจ้าของรถต้องนำรถมาทิ้งไว้กับอู่เป็นเดือนๆ หลังจากพูดคุยสไตล์ สีสันและลวดลายที่ชอบ ก็เข้าสู่กรรมวิธีการปั้นดินให้เป็นดาว … เพื่อความคงทน กันแดดกันฝน ด้านหน้ารถบรรทุกจะเป็นการติดสติ๊กเกอร์หลากสี … ส่วนด้านข้างเป็นการวาดลวดลายและทาสีน้ำมัน สีที่นิยมใช้ไม่พ้น แดง เหลือง น้ำเงิน และแซมด้วยสีเขียว ชมพู ฟ้า ตามรสนิยมของศิลปินช่างแต่งรถ

สอบถามจากเจ้าของอู่ก็รู้ว่า แต่ละคันต้องใช้เวลาทำสีมากถึง 6-8 สัปดาห์ ในอัตราค่าบริการ 700-900 ดอลล่าร์ (หรือ ~170,000 รูปี)

ที่อู่ยังมีรายได้เสริม ทำรถบรรทุกเด็กเล่นขนาดใหญ่ ทำจากเหล็ก เปิดท้ายได้ แต่งรถเสมือนจริง เสียแต่ว่าน้ำหนักเยอะมาก แต่ละคันหนักร่วม 20-30 กก. หากจะซื้อกลับไทยต้องซื้อหนักน้ำหนักเพิ่มจากสายการบิน ไม่แพงเลย กก. ละ 40 ดอลลาร์เท่านั้น! เหอ เหอ

บนถนนที่ Lahore ย่าน Camera market พบเห็นการใช้ม้า ลา ล่อ เทียมเกวียน วิ่งกันไปมาเป็นเรื่องปรกติมาก … จังหวะเดินข้ามถนนเพื่อหาซื้อฟิล์มสี 135 หันขวับไปเจอพี่อาชาท่านนี้ห้อม้ามาในระยะกระชั้น ควักกล้องจากกระเป๋าส่องหมับเข้าให้ เกือบไม่ได้ภาพ แทบไม่มีเวลาจัด composition ยังดีถ่ายติด ได้เอาภาพมาแบ่งกันดู

น่าสงสารชาวเมือง Lahore กับการใช้ชีวิตในสภาพอากาศที่แย่สุดๆ ค่า PM 2.5 ในช่วงเช้าสูงถึง 300-400! เรียกว่าต้องหาหน้ากากกันแก๊สพิษมาใส่เลยดีกว่า

ตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นฝุ่น ยังนึกดีใจ ได้หมอกบางๆ ยามเช้ามาต้อนรับ ที่ไหนได้ ฝุ่น ควันพิษทั้งนั้น … เพียงแค่เช้าเดียวที่ผมเดินทางถ่ายรูปที่นี่ รู้เลยหนักมาก อาการหายใจไม่อิ่ม คันตามผิว คัดจมูก และแสบตา เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดไม่ออกเลยว่าหากใช้ชีวิตที่นี่ต่อเนื่องกันเป็นปีๆ ร่างกายจะพังแค่ไหน?

อัสซะลามุอะลัยกุม = "ขอให้ความสันติสุขจงมีแด่ท่าน" เวลาเจอชาวปากีฯ ที่เข้ามาทักทายขอถ่ายรูป ก็มักจะทักทายกันสั้นๆ ว่า “ซะลาม”

รอยยิ้ม และมิตรภาพของชาวมุสิล ที่ปากีสถานถือเป็นเสน่ห์ขั้นสุดที่ตกหัวใจผู้มาเยือนให้อยากกลับไปเที่ยวทุกครั้งที่มีโอกาส

ยานพาหนะที่มีมากที่สุดในปากีสถาน คงเป็น รถมอร์เตอร์ไซด์ ซึ่งปัจจุบันมีรถมอร์เตอร์ไซด์ที่จดทะเบียนประมาณ 25 ล้านคัน โดยยี่ห้อยอดนิยม คือ Honda, Suzuki และ Yamaha ขนาดเครื่องยนต์ 70cc - 125cc สียอดนิยมคือ สีแดง โดยแทบทั้งหมดขับขี่โดยผู้ชายครับ นับว่าเป็นยานพาหนะประจำครอบครัวชาวปากีฯ เลย เห็นบางคันซ้อนกัน 4-5 คน คือ พ่อ แม่ และลูกเล็กอีก 2-3 คนครับ การสวมหมวกกันน๊อค เป็นกฎหมายการขับขี่ที่นั่น แต่ไม่ค่อยนิยมสวมกันครับ

Note: ราคามอร์เตอร์ไซด์ที่ปากีฯ เช่น Honda CG 125 โดยเฉลี่ยคันละ 180,000 รูปี (~ 32,000 บาท) ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือน คือ 35,000 รูปีต่อเดือน (~6,500 บาท) หากเราแบ่งเงินจากรายได้ต่อเดือนหักไว้ 20% เพื่อซื้อรถมอร์เตอร์ไซด์ ต้องเก็บเงินทุกเดือนประมาณ 2 ปี จึงจะได้มอร์เตอร์ไซด์มาขับครับ

แหล่งขายถั่วที่ใหญ่มากใน Lahore Bizaar มีถั่วเกือบทุกรูปแบบที่ต้องการ เช่น Walnuts, Pistachios, Cashews, Almonds และธัญพืชแห้งแบบต่างๆ แต่สำหรับถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และ ถั่วดำ ไม่ยักกะมีนะ เดินวนๆ ดูหลายร้าน ไม่มีโชว์หน้าร้านสักแห่งเลย

ว่าไป…อยู่ที่นั่น คิดถึงเต้าส่วน และข้าวเหนียวเปียกถั่วดำมากๆ ตั้งใจกลับถึงไทยจะกินไม่ยั้งเลย

อุปกรณ์ถ่ายภาพที่เดินในตลาด พี่นันท์ประกอบ Nikon Z 7 ii + เลนส์ 50/1.2 S ตลอดเวลา หากกว้างไป แคบไป ก็ Zoom เท้าเข้าออกเอา ด้วยระบบ Eye auto focus ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องของ Z seires ทำให้การถ่ายภาพง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก สำหรับการ Setting ค่ากล้อง พี่นันท์ถ่ายด้วย Raw file, WB แบบ Auto, Picture profile แบบ Portrait ถ่ายด้วย Mode A ด้วยรูรับแสง 1.2 แทบจะทุกใบ และปิด Vignette control : Off เพื่อให้ยังมี effect ขอบภาพมืดที่เป็นเอกลักษณ์ของเลนส์ไว้ครับ

Note: รอบนี้ผมติดกล้องฟิล์ม Hasselblad XPan ii ไปด้วย แต่ดันเตรียมฟิล์มไปแค่ 5 ม้วน ใจก็คิดว่าหากไม่พอค่อยหาซื้อที่ Islamabad หรือ Lahore ก็น่าจะพอหาได้บ้าง และราคาคงถูกกว่าที่ไทย …​แต่ผิดคาดครับ! ตลาดฟิล์มใน Pakistan ถือว่าได้ตายไปแล้ว ปัจจุบันแทบไม่เหลือร้านรับล้างฟิล์มเหลืออยู่เลย ผมถามร้านขายอุปกรณ์กล้องที่ Islamabad จำนวน 2 ร้าน และเดินเข้าร้านขายกล้องที่ Lahore มากกว่า 10 ร้าน ได้ข้อสรุปตรงกัน ที่นี่ไม่มีคนใช้ฟิล์มกันแล้ว ทั้งตลาดผมได้ฟิล์มสี ProIMage 100 จำนวน 1 ม้วน, ฟิล์ม Slide ของ Fuji ที่เจ้าของร้านถ่ายภาพให้ฟรีมา 1 ม้วน (เพราะเก็บไว้นานแล้ว) และมีฟิล์มที่ตัดใจไม่ซื้อ เพราะซื้อมาคงถ่ายไม่ได้ (หมดอายุ 2006) อีกจำนวน 1 ม้วน … จบข่าว … น่าเสียดายมากๆ แม้จะพอเห็นกล้องฟิล์มตั้งวางขายอยู่บ้าง แต่ใช้เป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ประดับตู้เท่านั้นครับ

บนสะพาน มีการแสดงน้องลิงจ๋อ แลกกับเศษเงินจากคนสัญจรผ่านไปผ่านมา ชาวปากีสถานส่วนมากเจอปัญหาพิษเศรษกิจ ต้องปากกัดตีนถีบหาเลี้ยงครอบครัวอย่างลำบาก ในขณะที่ข้าวปลาอาหารมีราคาสูงขึ้นทุกๆ วัน ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของปี 2565 คาดการณ์อยู่ระหว่าง 22 - 23% ต่อปี! อันเป็นผลมาจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมครั้งใหญ่ เชื้อเพลิงแพง และภาวะกดดันจากศก. ถดถอยที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก

ประเทศปากีถสานมีอัตราการเกิดสูงมาก คือ มีการเกิดใหม่ 22 คนต่อประชากร 1,000 คน (ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ ~10 คน) มีการคุมกำเนิดอย่างจำกัด แต่ละครอบครัวมีลูกเฉลี่ย 3.47 คน อีกทั้งมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ทำให้มีแนวโน้มประชากรล้นประเทศ

ใน Pakistan เราจะเห็นเด็กเล็กๆ จำนวนมาก ตามถนนหนทาง ตามตลาด และแหล่งชุมชน … เด็กบางคนเดินคนเดียว อายุไม่น่าเกิน 5-6 ขวบ ดูแล้วหวาดเสียวน่าเป็นห่วง ขณะที่บางครอบครัวอาจให้พี่คนโตจูงมือน้องๆ เดินเกาะกลุ่ม เล่นวิ่งไล่จับ ไม่ก็ฝึกตี Cricket (คริกเกต) ด้วยวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ ผมอดไม่ได้ที่จะชื่นชมเด็กชาวปากีสถานในการพยายามเอาตัวรอด ต่อสู้ ดิ้นรน และรับผิดชอบต่อตนเองในทุกๆ วัน

Note: จากที่ลองเดินสำรวจตลาด ตามร้านขายของชำ หรือสะดวกซื้อ แทบไม่มีถุงยางวางจำหน่าย ด้วยราคาระหว่าง 100 รูปี หรือ~ 18 บาท (เช่น ยี่ห้อ HamDam) ถึง 350 รูปี หรือ ~57 บาท (เช่น ยี่ห้อ Durex) ที่แพงกว่าค่าครองชีพประจำวันของชนชั้นล่าง ที่มีรายได้เฉลี่ยวันละ 120 - 150 บาท …​ ทำให้ถุงยางเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยโดยปริยายของคนส่วนใหญ่ในปากีสถาน

ให้บริการ “ชั่งน้ำหนัก” แบกะดิน สนนราคา 10 รูปี (~2 บาท) เท่าที่สังเกตุอยู่ 10 นาที … มีผู้คนจำนวนมากทั้งหญิง-ชาย แวะมาใช้บริการบ่อยเหมือนกันนะ คือ บ่อยกว่าที่เราคิดไว้ ในขณะที่แทบทุกบ้านในไทย จะซื้อเครื่องชั่งน้ำหนักไว้ที่บ้าน แต่กับชาวปากี อาจเห็นว่าซื้อเครื่องชั่งน้ำหนัก ราคา 2,000 รูปี มาก็คงใช้ไม่คุ้มค่า สู้จ่ายครั้งละ 10 รูปี ชั่งเดือนละครั้ง ยาวๆ ไป 200 เดือน คุ้มกว่าแน่นอน

ขอบคุณที่ติดตามชมภาพ People of Pakistan : Nikkor 50/1.2 S ครับ พบกันใหม่ในบทความต่อไปครับผม

Previous
Previous

ถ่ายฟิล์มบูด..แต่เลอค่า ที่ Lahore

Next
Next

คืนหรรษาที่ Hunters Den, Hunza Valley