บันทึกจากภาคสนาม Norway Winter - March 2024

SPONSORED by: NIKON

การเดินทางในรอบนี้ แม้จะเตรียมตัวมาพร้อมแค่ไหน แต่ดูเหมือนว่าปัญหา-ความท้าทาย จะพร้อมมากกว่าเรา … หลังจากถึงที่นั่งบนเครื่องบินก็ได้รับอีเมล์จากบริษัทรถเช่าที่ Norway ว่าตัดบัตรเครดิตไม่ผ่าน อาจจะไม่ได้รถเช่า! ปัญหาพุ่งชนมาเรื่อยๆ ทั้งรถเช่าคันเล็กกว่าที่จอง / กระเป๋าดีเลย์ / Crampon หาย / ถุงยาประจำตัวหาย / ลืมของ /ป่วยไม่สบายเริ่มไอหนักๆ /ลุ้นเครื่องดีเลย์ / และสุดท้ายตกเครื่องที่ Oslo ต้องหาไฟล์ทใหม่ จองโรงแรม และกว่าจะถึงไทยก็ยกยอดไปอีก 1 วันเต็ม ... “เราคงใช้ดวงดีหมดแล้วมั้งพี่” น้องในทริปเปรยออกมาพร้อมอารมณ์ขัน ผมเองก็ขำไปด้วย … เออ น่าจะจริง ทริปนี้แสงเช้าแสงเย็นอย่าไปพูดถึง ไม่โล่งก็เน่า ไม่มีฟ้าระเบิดตลอด 10 วันที่ผ่านมา แต่เราได้แสงเหนือเต็มๆ 5 คืน ถ่ายกันตั้งแต่ทุ่มครึ่ง ยันเกือบสว่าง แสงเหนือมาๆ หายๆ แต่เราก็ยืนเฝ้าและได้ภาพสวยๆ เป็นรางวัล … กลางวันนอน กลางคืนเป็นซอมบี้ล่าแสงเหนือ เป็นแบบแทบทุกวัน จนร่างกายพังกันไปแทบทุกคน ทริปจบแบบทุลักทุเล แต่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความทรงจำกับกลุ่มเพนกวินนอร์เวย์ 5 คน ชายล้วน ที่ไปยืนหนาว ขาสั่น หัวชาไปด้วยกัน

บันทึกจากภาคสนามนี้ผมจดไว้เวลาที่เจอปัญหา หรือบทเรียนที่ได้รับจากการเดินทางถ่ายภาพ 10 วันที่ผ่านมา น่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่เตรียมไปถ่ายภาพใน Norway, Iceland หรือบริเวณใกล้เคียงกันครับ บางหัวข้อไม่มีรายละเอียดมากนัก เป็นเสมือนประโยคสั้นๆ เพื่อเตือนความทรงจำ … หัวข้อไหนสนใจอ่านเพิ่มเติม สะกิดมาให้รู้ ผมจะพยายามเขียนเพิ่มเติมให้อ่านในคราวต่อไปครับ

ภาพ: ล่าแสงเหนือ เราต้องอยู่ Outdoor ค่อนข้างหนาวจัด เสื้อผ้า ถุงมือ รองเท้า และอุปกรณ์กล้องทุกอย่างต้องพร้อม ถึงจะลุยได้ยาว

ภาพ: การแต่งตัวก็ประมาณนี้ ยืนท้าลมหนาว 3 ชม. บนยอดกระเช้า Tromso สำคัญมากๆ คือ การแต่งตัวเป็น Layer, หมวกกันลม, ผ้าพันคอ, ถุงมือหนา, ถุงเท้าหนา, รองเท้ากันหนากันน้ำ และ Crampon หากเรามีสิ่งเหล่านี้ครบ ตัวอุ่น ยืนได้นาน … อ้อ กระติกน้ำเก็บน้ำร้อน ก็สำคัญมากถึงมากที่สุด เติมน้ำร้อนไว้ จิบบ่อยๆ คอไม่เจ็บครับ

การเดินทางเข้าประเทศ:

  • เมื่อต้องผ่าน ตม. แต่ละคนควรเตรียมกำหนดการเดินทาง ใบจองโรงแรม และตั๋วเดินทางกลับ เพื่อแสดงหาก จนท. ขอเอกสารยืนยัน ควรพิมพ์เป็นเอกสารออกมาจะดีที่สุด การยื่นโทรศัพท์แสดงเป็นไฟล์ Digital อาจจะสะดวก แต่มักมีคำถามตามมาเสมอ

  • วีซ่าที่ออกมาจะมี Duration of Stay ตามระยะเวลาที่เราส่งกำหนดการเดินทาง เช่น 10 วัน (บางคนโชคดีได้ 30 วัน หรือนานกว่านั้น) หากเราอยู่เกินกำหนดเวลาที่ระบุไว้ จะถือเป็นการ Overstay และจะมีคำถามตามมาเมื่อมีการขอวีซ่าในประเทศอื่นๆ เช่น Australia, USA ที่มักมีช่องให้ตอบว่า “คุณเคยอยู่นานกว่าวีซ่าที่คุณได้หรือไม่?” ถือเป็นเรื่องจำเป็นต้องอธิบายหากเราอยู่นานกว่า Duration of Stay ที่ได้ … ในรอบนี้ มีเพื่อนที่ตกเครื่องบินและต้อง Overstay ของ Norway การเดินทางออกไม่มีปัญหา แต่การขอวีซ่าใหม่ ต้องเขียน จม. ชี้แจง เล่าเหตุการณ์และแนบเอกสารประกอบทุกครั้ง จึงขอให้เก็บเอกสาร ภาพถ่าย และ Scan เอกสารทั้งหมดเป็นไฟล์ใช้ในคราวต่อๆ ไป

การถ่ายภาพ/ภาพเคลื่อนไหว

  • ก่อนถ่าย Timelapse / interval shooting ควรเช็คแบตเตอรี่มีพอไหม? memory card เหลือพื้นที่มากพอสำหรับการ Save ไฟล์หรือเปล่า? การวางมุม ระดับน้ำได้หรือยัง? ระบบโฟกัสต้องตั้งแบบ Manual จากนั้นเช็คค่ากล้อง mode A หรือ M รวมทั้งดูค่ารูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ iso และ histogram ก่อนเริ่มถ่าย

  • ขอเถอะ … ฝึก Focus ภาพระยะ infinity ก่อนออกไปล่าแสงเหนือ หรือดวงดาว การไปควานหาหน้างานเสียเวลามาก รอบนี้ผมใช้เลนส์ 14-24 mm. F/2.8 s ที่มี display บอกระยะ infinity บนกระบอกเลนส์ หมุนไปตรงกลางเครื่องหมาย infinity คือยิงเข้าเลย happy มาก ส่วนเลนส์อื่นๆ เช่น 20/1/8S และ Laowa 10/2.8 ต้องปรับเป็น Manual focus พร้อมกด Zoom แล้วสังเกตุระยะโฟกัสบนหน้าจอ เมื่อหมุนจนขึ้นเครื่องหมาย Infinity ให้หมุนอีกนิด ก็จะเข้าโฟกัสเข้า สังเกตุจากจุดไฟระยะไกลๆ จะคมขึ้น (ผมเรียกว่าจังหวะ 2 จึ๊ก คือ หมุนจึ๊กแรกได้ infinity แล้วหมุนอีกจึ๊ก ก็เข้าพอดี 555) ลองไปหมุนเล่นกันดูนะ

  • หากแบกไหว แนะนำ กล้อง 2 body และขาตั้งกล้องใหญ่ 1 และเล็ก 1 อัน รอบนี้ผมนำ Nikon Z 8 มาออกทริป ดีที่สุดสำหรับการทำงานของสาย Landscape ใช้งาน Z 8 ทำให้นึกถึงกล้องครู Nikon D850 มีปุ่มเรืองแสง พร้อมฟังก์ชั่นถ่ายภาพในที่มืด เช่น Warm display + Starlight focus ออกแบบมาได้ใจคนถ่ายแสงเหนือ ดวงดาวมาก สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม เชิญที่นี่ครับ: https://www.nikon.co.th/mirrorless-z-8

  • เลนส์ที่พกมา ควรครอบคลุมระยะ 14-120 มม และเลนส์ถ่าย ultra wide ต้องมี f/2.8 หรือกว้างกว่า เท่านั้น! ไม่เช่นนั้นภาพจะไม่สวย พราะแสงไม่ถึงต้องดัน iso สูงกว่า 6400 ทำให้ภาพไม่เนียน

  • หากลังเลว่าจะเอาเลนส์ 20/1.8 ไปดีหรือเปล่า ผมคิดว่า ถ้ามี 14-24/2.8 แล้ว ไม่จำเป็นครับ แบกไปหนัก โอกาสใช้ไม่มาก กว้างไม่พอ แต่ถ้ารักถ่ายภาพแนวตั้ง หรือพาโน + มีเลนส์อื่นที่ f แคบ การมี 20/1.8 คือ อาวุธเก็บแสงเหนือที่สุดยอดมาก … อยากให้ Nikon ออกเลนส์ 14/1.8 หนักและแพงหน่อย ก็ยอมซื้อ เพราะหน้างาน การได้ภาพเนียนสวย คือ สุดยอดปรารถนาเลย

  • อย่าลากชัตเตอร์มากกว่า 2.5 s สำหรับแสงเหนือ ซึ่งจะทำให้เส้น/สาย/ริ้ว/ลายของแสงเหนือหายไป แต่ใครที่พกเลนส์ที่มีรูรับแสงไม่กว้างนัก เช่น f/4.0 ก็คงต้องยอมลากชัตเตอร์สัก 4-6 s ชดเชยครับ

  • กระเป๋ากล้องที่ดี ต้องมีสายรัดเอว ลดน้ำหนักลงไหล่ ส่วนตัวให้ 100 คะแนนกับ F-stop Tilopa ไป Shoping ได้ตาม Link: https://cameramaker.co.th/product-category/bags/backpack/

  • ไม่แปลกใจ ทำไม Osmo Pocket 3 จึงขายดีมาก หลังจากทดลองนำไปใช้รอบนี้ ชีวิตเปลี่ยนเลย วิดีโอเนียน ใช้งานง่าย มีฟังก์ชั่นภาพเคลื่อนไหวครบเลย ทั้ง Timelapse, Motionlapse, Hyperlapse รวมถึงการปรับมุมกล้องรูปแบบต่างๆ ง่ายมาก ต้องขอบคุณ Zoom camera ที่จัดหาให้ยืมมาใช้งานแบบเร่งด่วน ได้ยินว่าสินค้าขาดตลาด แต่หากสนใจแวะไปสอบถามที่ Zoom ร้านกล้องสีชมพู ที่นี่ครับ: https://www.facebook.com/zoomcamera

  • เตรียมการ์ดไปให้พอ รอบนี้ผมถ่ายภาพนิ่ง + Timelapse ค่อนข้างมาก การ์ด 256Gb x 2 ใบหมดเกลี้ยง ผมหาการ์ดราคาไม่แรง คุณภาพดี รอบนี้ได้ลองยี่ห้อ Homan นำเข้าโดย Advance Photo System จัดว่าคุ้มค่ามาก การ์ด CFexpress Type-A 256Gb ราคา 5,490 บาท (หาส่วนลดเพิ่มได้ถูกกว่านี้) สนใจข้อมูลเพิ่มเติม แวะไปดูที่: https://advancedphotosystems.com/product-category/homan

  • ไป Norway ควรพกขาตั้งกล้องแข็งแรง และตั้งได้สูงไปจะได้เปรียบกว่าขาตั้งกล้องเบา พกพาง่าย หลายมุมต้องกางขาสูงเพื่อให้พ้นสิ่งกีดขวาง ขาตั้งกล้อง Traveller ทั้งหลายผมคิดว่าต่ำเกินไป ควรเป็นขาที่กางได้สูงอย่างน้อย 170 cm. จะเหมาะสมที่สุด หนักหน่อย รถถึง OK ส่วนการแบกขึ้นเขาก็ไม่หนักมากนัก เพราะใส่กระเป๋าเป้ ที่ Balance น้ำหนักดีๆ เบาสบายกว่าเป้ธรรมดามากครับ

  • หากไม่เคยลองอุปกรณ์อะไรมาก่อน เช่น ขาตั้งกล้อง หัวบอล กล้อง อุปกรณ์ถ่ายวิดีโอ ต้องลอง/ฝึกใช้ไปจากไทย อย่าไปเงอะงะหน้างาน เสียจังหวะถ่ายภาพ

  • พลาดเต็มๆ .. ก่อนถ่ายภาพนิ่ง/บันทึกวิดีโอ ขอให้เช็คโฟกัสให้ดีก่อน .. โฟกัสเข้าหรือเปล่า? เอาให้ชัวร์ อย่ามาพลาดเหมือนผมในรอบนี้ มีวิดีโอที่บันทึกการเล่าเรื่องหลายตอน ที่ลืมปรับโฟกัสเป็น Auto และใช้ Manual ถ่ายตลอด ในจอเล็กๆ ของกล้องวิดีโอก็มองว่าชัดดี พอมาเปิดดูด้วยคอม ชัดด้านหลังหมดเลย ส่วนหน้าคนไม่ชัดเพราะโฟกัสไปที่ Infinity จะกลับไปแก้ไขก็ไม่ทันหล่ะ เขียนไว้เตือนตัวเองเลย ห้ามพลาดอีก

  • มุมมหาชนบางมุม คงเยอะมาก มุงกัน แย่งกันเกินงาม เช่น มุม Dragon eye ที่หาด Uttakleiv ใครไปก่อนถ่ายเสร็จควรรีบเปิดทางให้คนข้างหลังถ่ายต่อ หากเจอคนกั๊กมุม ทนได้ก็ทน ทนไม่ได้ก็หนีไปที่อื่นเถอะ อย่าไปอารมณ์เสียกับคนเหล่านี้ มีอีกหลายมุมให้ค้นหาครับ

ภาพ: รอบนี้ผมจัดกล้อง Nikon Z 8 ไป 2 body พร้อมเลนส์ Nikkor 14-24 mm f/2.8, 24-70 mm f/2.8 และเลนส์มุมกว้าง 20 mm f/1.8 ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ยังได้นำเอาเลนส์ตัวนอกค่าย Laowa 10 mm f/2.8 ไปด้วย เผื่อเก็บภาพกว้างๆ มาฝากกัน

ภาพ: กระเป๋ากล้อง F-stop Tilopa ของผม อัดแน่นไปด้วยกล้อง, เลนส์, ฟิลเตอร์, แบตเตอรรี่, อุปกรณ์จุกจิก และเผื่อพื้นที่ว่างด้านบนสำหรับเสื้อกันหนาว 2 ตัว

เสื้อผ้า/ยา/อุปกรณ์:

  • ไม่ต้องขนเสื้อผ้าไปเยอะ รอบนี้มายังมีเสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ใส่อีกครึ่ง เตรียมเสื้อผ้ากันหนาวไปชุดเดียวพอ เช่น Longjohn, jacket, Down ยกเว้นเสื้อกันลมตัวนอกสุด จัดไปสัก 2 ชุดเผื่อถ่ายภาพ อากาศหนาวจัด เหงื่อไม่ค่อยออก ไม่ค่อยได้อาบน้ำ ใส่ซ้ำได้ จะได้จัดอุปกรณ์อย่างอื่นมาแทน เช่น อาหาร ของกิน อุปกรณ์ถ่ายภาพ (เช่น เลนส์ช่วงอื่น หรือ Flash)

  • กระเป๋าจัดระเบียบเสื้อผ้าช่วยประหยัดเวลา แบ่งออกเป็นครึ่งทริปแรก + ครึ่งทริปหลัง และจัดของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่เหลว ยาสระผม และครีมทาผิว แยกไว้เป็นกองกลาง เมื่อถึงที่พักหยิบใช้ได้สะดวก

  • ยาประจำตัว เช่น แก้แพ้ ลดความดัน ลดไขมัน พ่นจมูกไซนัส และลดคัดแน่นจมูก ต้องติดกระเป๋ากล้อง หรือติดตัวเสมอ + Passport ก็เช่นกัน …. รอบนี้ ยาส่วนตัวตกหายก่อนกลับทั้งชุด แย่มาก

  • เสื้อผ้า เครื่องกันหนาวต้องพร้อม ถุงมือ 2 ชั้น (บาง + หนา), เสื้อผ้า/กางเกงกันลมกันหนาวให้อุ่นที่สุด ผ้าพันคอ หมวกกันหนาว รองเท้าลุยหิมะที่กันน้ำและหนาพอจะสู้ความหนาว + ถุงเท้า wool x 2 ชั้น บนเขาตอนกลางคืนหนาวมาก อย่าประเมินมันต่ำไป หนาวจนนิ้วแข็ง เจ็บ เนื้อหลุดเแบบไม่รู้ตัวเพราะกระแทกเข้ากับโขดหิน รู้ตัวอีกทีหนังเปิดแล้ว  เจ็บ ชา มาก

  • กระติกน้ำแบบเก็บความอุ่น สำคัญมาก บนเขาสูง น้ำในกระติกพลาสติกแข็งเป็นน้ำแข็ง … รอบนี้มาไม่เจ็บคอ/ไอเลย เพราะจิบน้ำอุ่นตลอด + พันคอด้วยผ้า puff กันหนาว … และห้ามลืมเติมน้ำก่อนขึ้นเขาเด็ดขาด

  • Crampon หรือ Spike จัดไปเลย 2 ชุด สำรองไว้ กันหาย หาซื้อหน้างานได้เฉพาะที่ Tromso ตรง Super sport outlet ราคาอันละ 800 - 1200 บาท คุณภาพดี ยางหนา หรือบางร้านสะดวกซื้อบางแห่ง ขายอันละ 600-800 บาท คุณภาพพอใช้ … หาซื้อยากมากหน้างาน หากไม่มี จบ!

  • ส่วนไม้เทรค ผมจัดไป 2 อัน ใช้จริงอันเดียวเพราะต้องถ่ายวิดีโอ/ถ่ายภาพไปด้วย ทำให้ไม่สะดวก … แต่เวลาเดิน จะลำบาก ไม่ balance ลื่นล้มหลายครั้ง

  • หนาวจัดๆ พระเอกยังน้ำมูกไหล อย่าลืมเตรียมกระดาษทิชชูแบบแพ๊คเล็กติดตัว ไป clear จมูกด้วย

  • สวมหมวก และผ้าพันคอตลอดเวลา ความร้อนไหลออกจากกลางกระหม่อม

  • หากรองเท้าเดินเขาไม่ได้ใส่นานเกิน 6 เดือน ควรเอามาใช้เดินก่อนออกทริปสัก 1-2 สัปดาห์ รอบนี้ผมจัดรองเท้าหนังหุ้มข้อที่ซื้อมาเกิน 5 ปี โชคดีที่รองเท้าคู่นี้ใช้งานได้ดี น้ำไม่เข้า กันหนาวได้ระดับหนึ่ง แต่เดินขึ้นเขานานๆ เจ็บระบมข้อเท้ามาก (ตอนซื้อไม่ได้เผื่อ Size รองเท้า +1 ทำให้เมื่อใส่ถุงเท้าซ้อนกัน 2 คู่ มันจึงคับ และเวลาเดินขึ้น/ลงเขา รู้สึกเจ็บปวดตรงข้อเท้ามาก สุดท้ายต้องถอดเหลือถุงเท้าคู่เดียว จึงพอจะไปต่อได้ แต่ก็ต้องทนหนาวกันไป)

  • หากใส่เสื้อ Down เป็นเสื้อกันหนาวตัวนอก อย่าเสี่ยงมุดเข้าไปตามพุ่มไม้ เพราะเสี่ยงเสื้อ Down โดนเกี่ยวขาด/ทะลุ จากกิ่งไม้ หรือหนามแหลมได้ เสื้อผมโดนเกี่ยวไป เสียดายมาก แก้ไขลำบากด้วย

  • เสื้อผ้าสีแรดๆ ถ่ายภาพกับหิมะสวยกว่า ขาว เทา ดำ จัดไปเหอะ ขบวนการ Ranger ยอดมนุษย์อะไรก็ว่าไป :)

ภาพ: อากาศหนาวจัด อาจทำให้คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือเป็นหวัด และอาจทำให้เกิดหูอื้อ เจ็บหู เวลาบินในประเทศ/ระหว่างประเทศ … ส่วนตัวผมเป็นโรค Airplane sickenss รุนแรง ความเจ็บปวดบรรยายได้ยากมาก ง่ายๆ เหมือนตาจะหลุด หัวจะปริ หูจะทะลุทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนความกดอากาศเร็วๆ โดยเฉพาะตอนเครื่องบินจะ Landing เทคนิคที่ใช้เพื่อลดความดันในช่องหูคือ ปิดจมูก กลืนน้ำลาย สลับกับเปิดจมูกกลืนน้ำลาย พร้อมพ่นยา Otrivin และทานยาแก้แพ้ + Pseudooephedrine ก่อนขึ้นเครื่อง พร้อมเตรียมหมากฝรั่งไปกระปุกใหญ่ เคี้ยวตอนเครื่องขึ้น และก่อนเครื่องลง ช่วยได้มากครับ

Note: ยาซูโด บางประเทศอาจนำเข้าไม่ได้ (เช่นญี่ปุ่น) ให้ระมัดระวังด้วยนะครับ

ภาพ: หากไม่ได้ซื้อ Crampon จากไทยมา และมีโอกาสลงเครื่องบินที่ Tromso ให้แวะไป Supersport ในห้างจะมีขาย สนนราคาคู่ละ 800 บาท ดีงาม ยางหนา เลือกไซด์ได้ทั้งขนาด S, M, L ส่วนใหญ่ตัวที่ขายในไทยผ่าน Shopee ยางบาง เป็น Freesize เหล็กเกาะเล็ก บางอันนำมาใส่กับรองเท้าขนาดใหญ่ ใส่ไม่ได้ ใส่แล้วหลุดระหว่างทาง หรือหลวมไป ตกหาย ไม่แนะนำครับ

ภาพ: รอบนี้ไม่ได้ซื้อรองเท้าใหม่ ค้นตู้นำรองเท้าที่เคยซื้อฝากเพื่อนซื้อจากอเมริกาเมื่อ 5 ปีก่อนมาใช้งาน หวั่นๆ ว่าจะหลุดเป็นชิ้นๆ แต่สุดท้ายพารอด ปลอดภัย อุ่นเท้าตลอดทริป มีปัญหาบ้างตอนใส่ถุงเท้า 2 ชั้นเดินขึ้นเขา เจ็บข้อเท้าแบบน้ำตาซึม ถอดถุงเท้าเหลือชั้นเดียวเดินคล่อง สบายขึ้นมาก … หากจะออกทริป Norway Winter แนะนำลงทุนกับรองเท้า หาซื้อรองเท้ากันหนาว/กันน้ำแบบหนา อย่างดีไปเลยครับ ตอนยืนรอแสงเหนือ เท้าเราสัมผัสพื้นหิมะหรือพื้นที่มีความเย็นตลอดเวลา ที่จะทนไม่ได้อย่างแรกคือเจ็บชาเท้านี่หล่ะ ส่วนนิ้วมือก็หาถุงมือกันหนาวอย่างดีแบบหนา -15 องศาเป็นอย่างน้อยติดไป ได้ใช้แน่นอน

ชีวิตประจำวัน และเบ็ดเตล็ด:

  • หากของหาย! ค้นหาให้ละเอียดในกระเป๋ากล้อง ตามซอกมุม หรือในรถ ให้ดีก่อน บางทีตกอยู่ตามซอก หรือ ช่องเก็บของ … รอบนี้ขึ้น Hesten โดยไม่มี Crampon อนาถมาก หิมะแข็ง แต่ต้องจำใจใช้ Snowboard แทน เดินยาก และเมื่อยข้อเท้า/หน้าแข้งมาก

  • หนาวจัด อย่าถอดถุงมือ นิ้วเจ็บ แข็ง ไม่ดี แนะนำถุงมือแบบถอดนิ้วได้ แนะนำยี่ห้อ Vallerret ดีงาม บอกเลย: https://cameramaker.co.th/product-category/photography-gloves

  • ไฟฉายติดหน้าผาก ต้องเช็คแบตเสมอ! ไม่ดีแน่หากถ่ายภาพกลางคืน แล้วแบตหมด ชีวิตลำบาก เชื่อเถอะ

  • ซื้อของแห้ง เครื่องปรุงจากไทยไปเสมอ เช่น มาม่า ผงผัด ซอสปรุงรสชาติผงโรงข้าว ซอสราดสลัด น้ำพริก โดยเฉพาะข้าวสวยอุ่นร้อน + โรซ่าซอง (ผัดกระเพรา, ไก่ผัดซอส, พแนงไก่) คือดีงาม ที่เหลือซื้อของสดใน supermarket ท้องถิ่น เช่น เนื้อ ปลา ไก่ ผัก ผลไม้มาทำกิน รอบนี้ 11 วัน หมดค่าอาหารกองกลางที่ซื้อที่นั่นไม่ถึง 2,000 บาท แต่หากไปทานตามร้าน แค่แซนวิช + น้ำผลไม้ โดนไป 1,000 - 1,400 บาทต่อมื้อ/คน โหดมากกกกก

  • การเข้า Supermaket หากเป็นไปได้ (และมีที่ว่างในรถมากพอ) ควรซื้ออาหาร/ขนม/น้ำ เผื่อไปเลย 3-4 วัน จะได้ไม่เสียเวลาเดินทาง หรือพักผ่อน … ครั้งนี้ผมมีปัญหาเรื่องรถเช่า ได้ขนาดเล็กกว่าที่ระบุไว้ จึงแวะ Supermarket แทบทุกวัน เสียเวลาพอควร แต่ข้อดี คือ การได้เดิน Relax ผ่อนคลาย และสำรวจตลาดไปในตัว

  • ขนม เครื่องดื่ม ของแห้ง ในแต่ละที่ราคาแตกต่างกันได้มากถึง 1 เท่าตัว ดังนั้นต้องเช็คราคาก่อนเสมอ เช่น กาแฟพร้อมดื่ม Starbucks บางแห่งขาย 22NOK (หรือ 75 บาท) ขณะที่บางแห่งอาจขายแพงถึง 42NOK (หรือ 140 บาท)

  • เขียนติดหน้าผากไว้เลย “Supermaket ปิดทุกวันอาทิตย์”

  • ไส้กรอกที่ขายเกือบทั้งหมด คือ ส่วนผสม เนื้อหมู + เนื้อวัว … ผมเลี่ยงไม่ทาน เพราะแพ้เนื้อวัว และซื้อไส้กรอก ที่มีบรรจุภัณฑ์กำกับว่าเป็น “เนื้อไก่” เท่านั้น

  • อย่าซื้อน้ำ soft drinks ในร้านอาหารเด็ดขาด โดนมาแล้ว โค๊ก 350 ml โดนไป 200 บาท/ขวด ไปซื้อในปั้ม/ร้านสะดวกซื้อ ถูกกว่าครึ่งนึง แต่ยังแพงมากอยู่ดี … ร้านอาหารหลายแห่งมีน้ำดื่มสะอาด หรือชาร้อนบริการฟรี เดินสำรวจดูก่อนนะ

  • ตัดเล็บมือ เล็บเท้า ก่อนออกเดินทางเสมอ เดินเขาหนักๆ แล้วเจอปัญหาเล็บขบ มันไม่สนุกเลยจริงๆ!

  • เป็นมารยาทพื้นฐาน ก่อนออกจากบ้านพัก ควร Clear ผ้าปูที่นอน ปอกหมอน ไว้ในที่ซัก เก็บครัว ทิ้งขยะให้เรียบร้อย เราไม่ได้ไปในนามนักท่องเที่ยว แต่เราเป็นตัวแทนคนไทย อย่าให้เจ้าของที่พักไปนินทาภายหลังว่า คนไทยสกปรก อันนี้คือจริงจังมากครับ

ภาพ: กาแฟพร้อมดื่ม Starbucks ราคา 22NOK แต่ Supermaket หรือปั้มน้ำมันบางที่จะขาย 40NOK + เช็คราคาให้ดีก่อนหยิบไปจ่ายเงินนะครับ

ภาพ: อาหาร 1 จาน ราคาตีเป็นเงินไทย 800 บาท! หากสั่งน้ำ Softdrink ด้วย เงิน 1 พันหายแว๊บ … อาหารที่นั่นแพงมากๆๆ แนะนำให้ซื้อของสด ทำอาหารทานเอง ประหยัดไปได้มากจริงๆ

ภาพ: พี่บอย และน้องพีท คู่หูจาก Australia ที่มาร่วมทริป ผมขอขอบคุณสำหรับทุกมื้ออาหาร ที่พี่บอย และน้องพีท ร่วมด้วยช่วยต้ม ยำ แกง ผัด ทอด … อร่อยทุกอย่าง และทำให้เราผ่านวันหนาวๆ มากันได้อย่างมีความสุข

การเช่ารถ/ขับรถใน Norway:

  • รถที่ Norway พวงมาลัยอยู่ซ้าย เตือนตัวเองเสมอให้ขับเลนขวา

  • เช็ครถโดยการถ่ายวิดีโอรอบคัน เช็คระดับน้ำมันและต้องเติมคืนให้เท่าเดิมเสมอ ค่าปรับหากไม่เติมน้ำมันคืนจะมีค่า fee ราวๆ 300-500 Nok (1,000 - 1,500 บาท) + ค่าน้ำมัน

  • บริษัทรถเช่าบางแห่ง เรียกเก็บค่าทำความสะอาดเพิ่มเติม หากรถเปื้อนคราบดิน หรือมีเศษขยะในรถ เท่าที่เคยเจอไม่เคยโดนเรียกเก็บ คราบฝุ่น สกปรกพอมีบ้างเมื่อคืนรถ เราแค่ต้องเก็บขยะ ขวดน้ำ กระดาษทิชชู ออกจากรถ … บริษัทรถเช่า จะมีค่าธรรมเนียมทำความสะอาดรถอยู่ประมาณ 600 - 800 Nok (2,000 - 2,500 บาท)

  • เมื่อจอดรถในที่สาธารณะ ขอให้มั่นใจว่า มันจอดได้โดยไม่ต้องหยอดเงิน/ซื้อตั๋วจอด … รอบนี้ผมไปโดนที่ปรับ 660Nok หรือ 2,300 บาท เซ็งเป็ด

  • เติมน้ำมันในปั้ม ต้องเติมเอง จ่ายเงินได้สองแบบ คือ บัตรเครดิต (ต้องมี PIN number) และจ่ายหน้า Couter ในร้านสะดวกซื้อของปั้ม (ถ้ามี) แล้วรับเป็น Code มากรอกที่ปั้มหัวจ่าย

  • อากาศหนาวจัด กระจกขึ้นฟ้ามองทางไม่เห็น ดังนั้น ก่อนออกเดินทางออกไปถ่ายแสงเช้า ให้ติดเครื่องยนต์ เปิด Heater ในรถทิ้งไว้สัก 5 นาที ใช้ผ้า/กระดาษทิชชูหนา เช็ดด้านในรถ ช่วยได้มาก

  • ถ่ายภาพทะเล หากน้ำทะเลกระเซ็นโดนหน้าเลนส์/ฟิลเตอร์ … อย่าใช้ผ้าลูบหน้าเลนส์ ให้ใช้ทิชชูนุ่มๆ ซับออก ไม่ทิ้งคราบครับ

เงิน NOK / บัตรเครดิต /การใช้งานโทรศัพท์:

  • Norway เป็น paperless payment ใช้บัตรเครดิตสแกนจ่ายเงินแทบทุกที่ รวมถึงการเติมน้ำมัน โดยต้องเช็คธนาคารสอบถาม PIN number การใช้บัตร เพราะหลายแห่งจะต้องกรอกเลขนี้

  • ไป ตปท. 7-8 วัน เน็ท 6GB ตามที่ขายกัน (เช่น Sim2Fly) อาจจะพอ แต่หากไปนานกว่านั้น คงต้องซื้อเผื่อ เน็ทตามที่พักบางที่เร็ว บางที่ผีสิง มาๆ หายๆ ใช้เน็ทเราเองสะดวก และปลอดภัยกว่า

  • จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เจอปัญหาเรื่องรถเช่า ตกเครื่อง บัตรเครดิตมีปัญหาไม่ตัดบัตร รวมถึงการส่งเลข OTP มายังเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกติดกับบัตร อยากแนะนำให้เปิดมือถือ Roaming ไปเลยอุ่นใจที่สุด ระวังการรับสาย/โทรออกเฉพาะที่จำเป็น เพราะค่าโทรค่อนข้างสูง

  • หากเรากำหนดวงเงินบัตรเครดิตไว้ที่เมืองไทย เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ เมื่อเราต้องเดินทางไป ตปท. ให้โทรแจ้ง Call center ของบัตรเพื่อเปิดการใช้งาน ตปท. และต้องกลับไปแก้ไขวงเงินที่เคยกำหนดไว้ให้ครอบคลุมกับการใช้จ่ายใน ตปท. … ตรงนี้น่าจะเป็นปัญหาที่ผมใช้บัตรตัดผ่านการจองรถใน ตปท. ไม่ได้ เกือบแย่ไม่ได้รถเช่า จำเป็นบทเรียนเลยครับ

  • เงิน Nok มักขาดตลาดช่วง มกรา - มีนา ควรแลกเงินไปล่วงหน้า รอบนี้ผมแลกเงินแทบไม่ได้เลย จองผ่าน SuperRich ก็ไม่ได้เพราะไม่มีเงินใน Stock สุดท้ายแลกจากเพื่อนมาได้นิดหน่อย และต้องยอมเสีย Rate แพงโดยการตัดผ่านบัตรเครดิต ซึ่งมี Rate สูงกว่า 10-12% เช่น ค่าที่พัก 30,000 บาท จ่ายแพงขึ้นอีก 3,000 บาท โหดร้าย

ภาพ: ขาตั้งกล้องสูง และแข็งแรง สำคัญมากในการถ่ายภาพ Norway Winter ครับ มุมส่วนมากรถถึง ไม่ต้องห่วงว่าจะแบกไม่ไหว ส่วนการเดินเทรค จำเป็นแบกก็แบกไป ได้ใช้แน่นอน และบนเขาลมแรงมากครับ ขาตั้ง Traveller เล็กๆ กระดิกเพราะลมพัด ต้องหากระเป๋าถ่วงไว้ ดังนั้นขาใหญ่ได้ ขาใหญ่เหอะ สูง มั่นคง หนักแต่คุ้ม

การเดินทางด้วยเครื่องบิน/Delay และการตกเครื่อง/และการเข้าพักโรงแรม-ที่พัก:

  • ออกทริป ตปท. กับเพื่อนๆ หลายคน แนะนำกระเป๋าผ้า หรือกระเป๋า Soft case ดีกว่า Hard case เพราะสามารถจัดเข้ารถได้ง่ายกว่า แต่ต้องระวังการเปียกน้ำ/หิมะระหว่างการเดินทาง แนะนำการห่อ Wrap พลาสติก หรือควรใส่เสื้อผ้าไว้ในถุงพลาสติกป้องกันการเปียกชื้น

  • อย่าลืมเสื้อกันหนาว 1 ตัวขึ้นเครื่องด้วยเสมอ รอบนี้ไปกับ Qatar Airway ขาไปเหมือนหิมะลงในเครื่องหนาวมาก ผ้าห่มที่แจกต้องไปควานหาสำรองมาอีก 2 ผืนถึงจะเริ่มอุ่น

  • ไฟล์ทบินระหว่างประเทศจะได้น้ำหนัก 30kg ขณะที่ไฟล์ทในประเทศ Norway จะจำกัดที่ 23kg x 1 ใบ *หากซื้อตั๋วแบบ Plus+ จะได้น้ำหนักเพิ่มเป็น 23kg x 2 ใบ ดังนั้นต้องวางแผนเรื่องน้ำหนักให้ดีจากเมืองไทย แนะนำจัดกระเป๋าที่จะโหลดต่อใบไม่เกิน 22.5kg อย่าบ้าหอบฟางขนทุกอย่างไปเที่ยว ทริปนี้เจอ พนง. สายการบิน Counter ข้างๆ บอกนักท่องเที่ยวท่านนึง ให้จ่ายเงินเพิ่มเพราะน้ำหนักเกิน 1kg โดนไปเบาๆ 4-6 พันบาท! ... หากคิดจะขนเยอะ แนะนำให้จองตั๋วในประเทศแบบ Plus+ ไปเลยดีกว่า แล้วจัดกระเป๋า 22kg + 8kg จำนวน 2 ใบตั้งแต่เมืองไทยครับ

  • อย่าลืม Power bank, Battery ในกระเป๋าโหลด โชคดีผ่าน ... โชคร้ายคือถูกยึด ในรอบนี้เพื่อนท่านนึงลืม iPad ไว้ในกระเป๋าโหลด แต่ผ่านฉลุย ถึงจุดหมายปลอดภัยไม่ถูกยึด ขณะที่อีกท่านลืมแบตเตอรรี่กล้องถ่ายภาพไว้ 2 ก้อน และถูกยึดตามระเบียบ (แก้ไข: อุปกรณ์ที่มีแบตเตอรี่ฝังอยู่ในตัว เช่น ipad + laptop สามารถโหลดได้ครับ อันนี้เพิ่งทราบเหมือนกัน คราวหน้าจะได้โหลด Notebook ไปทำงาน ไม่ต้องแบกแล้ว เย้)

  • ซื้อตั๋วเครื่องบินที่มี Connecting flight ควรเผื่อเวลาระหว่างไฟล์ทนานหน่อย อย่างน้อย 3 ชม … อากาศที่ Norway เปลี่ยนแปลงบ่อย โดยเฉพาะไฟล์ทฝนขณะที่ประเทศ Oslo - Bodo - Leknes ควรเผื่อตรงกลางประมาณ 2-3 ชม ปลอดภัยกว่า

  • ขณะที่พิมพ์ข้อความนี้ นั่งบนไฟล์ทจาก Tromso - Oslo ก่อนขึ้นเครื่องบินมีหิมะตกหนัก กังวลใจว่าเครื่องจะดีเลย์ไหม สรุปขึ้นเครื่องบินได้ตรงเวลา โล่งอก … แต่ก่อน Landing ที่ Oslo เวลา 10.30 น. กัปตันประกาศว่า Oslo หิมะตกหนัก สนามบินปิด 3-6 ชม ไม่สามารถ landing ได้ ต้องไปลงขอ Landing สนามบินในเมืองอื่นแทน และนั่นทำให้ผมตกเครื่องบินที่จะกลับไทยตอนบ่าย 3 ในเวลาต่อมา!

  • หากการ Delay ของเครื่องบิน เกิดจากไฟล์ทของสายการบินเดียวกัน เราจะได้รับการชดเชย / จัดหาไฟล์ทใหม่ / จัดหาที่พัก อาหารให้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่หากเป็นคนละสายการบิน เช่น ผมบินสายการบิน SAS ซึ่ง Delay ทำให้พลาดไฟล์ทบินกับ Qatar จุดนี้ไม่ใช่ความผิดของ Qatar เราต้องแจ้งเพื่อเลื่อนไฟล์ท หรือต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่เพราะ No show

  • การบินจาก Bodo - Leknes จะบินด้วยเครื่องบินเล็กแบบใบพัด ไม่ระบุที่นั่ง ขึ้นเครื่องก่อนนั่งก่อน แนะนำแถวหน้าสุดสองสามแถวแรกที่ไม่ติดปีก นั่งด้านขวาจะเห็นหุบเขาสูงสวยงาม หรือนั่งด้านซ้ายก็มีวิว/ทิวทัศน์สวยงามไม่แพ้กัน

  • เราอาจให้สายการบินหลักทำเรื่องจองสายการบินต่อเนื่องให้ เช่น Qatar จองในประเทศของ SAS เผื่อเวลา delay สายการบินจะรับผิดชอบ เพราะดูแลเรื่องนี้มาแต่ต้น

  • หากเครื่องดีเลย์ กระทบกับไฟล์ทที่จะเดินทางต่อ ดูแล้วไปไม่ทันกับเวลา Check in แน่นอน (Counter check in ปิดก่อนเครื่องออกประมาณ 90 นาที สำหรับไฟล์ทระหว่างประเทศ) ให้รีบติดต่อเลื่อนไฟล์ท จะเสียค่าเลื่อนตั๋ว (ถ้าอยู่ในเงื่อนไข) ไม่เกิน 5-7 พันบาท แต่หากไม่เลื่อนไฟล์ท จะเจอค่าตั๋วใหม่ หน้างานแพงมาก (เช่น Qatar ขาเดียวกลับ กทม ราคา

  • ก่อน check out ออกจาก รร. Confirm ก่อนว่าไม่มีการ Charge ค่า Minibar เพิ่มเติม รอบนี้รีบ Check out เลยออกจาก รร. แบบหย่อนบัตรลงกล่อง Express check out พอมาขึ้นเครื่องมีใบแจ้งยอด update รายการ Minibar โผล่ขึ้นมาอีกพันกว่าบาท! ทั้งๆ ที่ไม่ได้แตะอะไรเลย คุยยากหล่ะ เพราะเราออกมาแล้ว จำเป็นบทเรียนครับ

  • หากใครเป็นโรค Airplane sickness เหมือนผม ต้องทำให้จมูกโล่งเสมอ ให้พ่นยาอิลิอาลิน + ทานซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine)ก่อนขึ้นเครื่อง อาการจะเห็นหนักก่อนเครื่องลง โดยเฉพาะสายการบินในประเทศที่มีการเปลี่ยนระดับความสูงค่อนข้างเร็ว … ให้หายใจ กลืนน้ำลายพร้อมปิดจมูก สลับกับเปิดจมูก พอช่วยได้  ให้อ้าปาก เคี้ยวหมากฝรั่งบ่อยๆ 30 นาทีก่อนเครื่องลง ย้ำ ห้ามลืมยาเด็ดขาด ทรมานมาก! อ้อ … คนเป็นหวัด คัดจมูก มีโอกาสเจอปัญหานี้เหมือนกัน รักษาตัวเองให้ดี

ภาพ: ผมจัดกระเป๋าเดินทางด้วยเครื่องบินระหว่างประเทศ และเตรียมเผื่อสำหรับการบินในประเทศแบบนี้ครับ กระเป๋าผ้าหนัก 22.2 kg + กระเป๋าเสบียงใบดำ Columbia บนสุดหนัก 8 kg ส่วน Snowboard ที่เตรียมไปสำหรับเดินเขา 3 คู่ หนัก 7 kg ฝากเพื่อนอีกท่านโหลดถัวน้ำหนักกันไปครับ

ภาพ: ขอบคุณ Nikon Sales Thailand ที่ให้นำกล้อง Nikon Z 8 พร้อมเลนส์ 14-24 mm และ 20 mm ไปทดสอบความทรหด; ขอบคุณ Zoom Camera ร้านกล้องสีชมพู ให้ยืม Osmo Pocket 3 และขาตั้งกล้อง ไปลุยแบบโหดๆ; ขอบคุณ Camera Maker สนับสนุนกระเป๋ากล้องคุณภาพเยี่ยม F-stop Tilopa และเลนส์ Laowa 10 mm f/2.8 Zero distrotion ไปเปิดโลกแสงเหนือ; ขอบคุณ Sandisk สำหรับอุปกรณ์เก็บบันทึกข้อมูลภาพ/วิดีโอ ใช้กันยาวๆ; และขอบคุณ Homan CFexpress Type B การ์ดทรงพลังสำหรับกล้อง Nikon Z 8

และหมื่นล้านขอบคุณทุกๆ คน ที่ติดตามอ่านจนถึงบรรทัดนี้ … ไว้พบกันใหม่ครับ

Love u 3000 ครับ : )

Previous
Previous

บันทึกจากภาคสนาม Sydney Seascape 2024

Next
Next

Landscape-skills Checklist ... สำหรับมือใหม่อยาก Turn Pro