บันทึกจากภาคสนาม Sydney Seascape 2024

ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้กลับไปเก็บภาพ Seascape & Cityscape ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ถือว่าเป็นการเดินทางไปเยือนถิ่นเก่าอีกครั้งในรอบ 5 ปี นับจากทริป Seascape ครั้งแรกที่เคยจัดไป ผมยังคงคิดถึงบรรยากาศตอนที่เริ่มถ่ายภาพ Landscape แบบจริงจังในช่วงมาศึกษาต่อ เพราะด้วยทัศนีย์ภาพของชายหาดของออสเตรเลียที่ไม่เหมือนใคร เลยอยากให้เพื่อนๆ ได้มาเห็นและเก็บภาพความประทับใจเหล่านั้นกลับไปด้วยเช่นกัน

 ผมวางแผนทริปครั้งนี้ไว้ 10 วันให้พวกเราได้ลุยถ่ายภาพทั้งแสงเช้าแสงเย็นแบบจัดเต็ม พูดได้ว่าสภาพแต่ละคนตอนขากลับ นอนสลบผสมความปวดเมื่อยกันมาบนเครื่องเลยทีเดียว เพราะนอนกันวันละ 3-5 ชม. และเดินค่อนข้างเยอะ ผมเองก็ไม่ต่างกัน ต้องพึ่งทั้งยาแก้ปวด แก้ไข้ แก้แพ้ แม้แต่ยาคลายกล้ามเนื้อ ภายใต้การดูแลของเพื่อนสมาชิกที่มีทั้งหมอคน หมอฟัน แฟนหมอยาและหมอหมา ที่พร้อมให้คำปรึกษาและการรักษาแบบเต็มที่ 

 ถึงแม้จะเหนื่อยนอนดึกตื่นเช้ากันแค่ไหน พวกเราก็พร้อมลุยถ่ายภาพกันทุกวัน ทำให้ทริปนี้เต็มไปด้วยความสุข ความทรงจำดีๆ ในทุกสถานที่ที่พวกเราเดินทางไป พร้อมกับประสบการณ์การถ่ายภาพที่ทำให้ทุกคนได้พัฒนาฝีมือขึ้นอีกขั้น วันนี้เลยอยากมาเล่าสู่กันฟังถึงบทเรียน ข้อคิด และอุปสรรคที่เจอระหว่างถ่ายภาพในทริปนี้ครับ

ภาพ: อุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุดนอกเหนือจากกล้อง, เลนส์ ultra-wide, และขาตั้งกล้อง ก็คือ Filter ทั้งแบบครึ่งซีก (หรือที่เรียกว่า GND Filter) แบบ ND เต็มแผ่น หรือหากใครมีแบบวงกลมสวมหน้าเลนส์ก็ใช้ได้เหมือนกัน (โดยทั่วไปก็จะแนะนำฟิลเตอร์ CPL และ ND1.2 ลดแสง 4 stops ส่วนฟิลเตอร์ครึ่งซีกจำเป็นต้องมี Filter Holder แต่ให้ความสะดวก รวดเร็ว และผลงานที่สวยงามหลังจากปรับใช้อย่างถูกวิธีครับ)

ภาพ: ต้องขอขอบคุณสมาชิกทั้ง 6 ท่าน ที่ไปร่วมลุย ร่วมเปียก อดหลับอดนอนในทริป Sydney Seascape 2024 นี้ไปด้วยกัน เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา: พี่เอนก, พี่หมอเล็ก, คุณหมอมีมี่, เชษฐ, พี่นันท์, พี่หมอมนตรี และพี่เสือ

อุปกรณ์สำหรับการถ่าย Seascape

อุปกรณ์หลักประจำทริปนี้ของผม คือ Nikon Z 8 + Nikkor 14-24/f2.8s และ Nikkor 85/1.2s พร้อมฟิลเตอร์ Nisi 100 System ครับ โดยมีข้อแนะนำด้านอุปกรณ์ดังนี้ครับ

ขาตั้งกล้อง: สำหรับการถ่าย Seascape ไม่จำเป็นต้องเลือกขาตั้งราคาสูง เพียงแต่ใช้ขาตั้งที่กางได้ มั่นคง กางต่ำได้ และไม่มีแกนกลางก็เพียงพอแล้ว เพราะจะช่วยให้ไม่ติดแง่งหินเวลาเราปรับขาตั้งลงต่ำ

เลนส์: เลนส์ที่ผมแนะนำสำหรับการถ่าย Seascape คือเลนส์ช่วง 14 - 21 mm เป็นหลัก อาจจะเป็นเลนส์ Nikkor 14-24 mm f/2.8, Nikkor 14-30 mm f/4.0 หรือ Nikkor 16-35 mm f/4.0 ก็ได้ครับ แต่ถ้าใครมีเลนส์ที่กว้างกว่านี้ เช่น ระยะ 12 mm ก็สามารถใช้ได้ แต่ต้องระวังเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพให้ดี ไม่งั้นภาพอาจจะดูโล่งเกินไป

**เรื่องสำคัญในการลุยถ่ายภาพทะเลคือ อย่าพกอุปกรณ์เยอะเกินไปครับ ผมเคยพลาดลื่นล้มในแอ่งน้ำแค่ครึ่งเข่า แต่รอบเอวสะพายกระเป๋าใส่เลนส์ครบช่วง เลยต้องสังเวย Carl Zeiss ไป 3 ตัวพร้อมกล้องอีก 1 ตัวเพราะความประมาทแค่ครั้งเดียว ดังนั้นเวลาไปถ่ายทะเล ผมจะพกแค่กล้อง 1 ตัว เลนส์ 1 ตัว ขาตั้งกล้อง และกระเป๋าใส่ฟิลเตอร์สะพายไหล่ มีผ้าแห้งผ้าเปียกติดกระเป๋าเสื้อไว้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ที่เหลือเก็บไว้ในรถหรือที่ที่ปลอดภัยดีกว่าครับ

ฟิลเตอร์: เราจำเป็นต้องเลือกฟิวเตอร์คุณภาพดี เช่น Nisi Filter ที่เคลือบผิวมาอย่างดี เช็ดไม่เป็นรอย สีตรง ทนรอยขีดข่วน (แต่ตกแตกได้นะครับ) สำหรับการถ่ายภาพทั่วไป ฟิลเตอร์ CPL คงเพียงพอแล้ว แต่สำหรับภาพ Seascape ผมแนะนำ Nisi 100 System ครับ ชุดนี้ประกอบด้วย ND 1.2 (ลดแสง 4 stops), Soft GND 0.9 (ลดแสง 3 stops แบบซอฟท์), Medium GND 0.6 (ลดแสง 2 stops แบบเฉลี่ยกลางภาพ) และ CPL square ถ้าอยากได้ฟิลเตอร์สำหรับถ่ายทะเลแบบ 'ต้มทะเล' หรือ 'ลากเมฆ' เพิ่ม ก็สามารถพก ND1000 (ลดแสง 10 stops) ไปด้วยได้ครับ ชุดนี้ชุดเดียวเอาอยู่ทั่วโลกเลยครับ นอกจากนี้ยังมีฟิลเตอร์พิเศษอีกแผ่นที่อยากแนะนำ คือ Reverse GND 0.6 (ลดแสง 2 stops กลางภาพ) เหมาะสำหรับถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกกลางทะเล หรือบนที่สูงที่เห็นเส้นขอบฟ้าชัดเจน แต่โอกาสได้ใช้จริงอาจจะไม่บ่อยเท่าชุดที่แนะนำไปก่อนหน้านี้

ส่วนฟิลเตอร์แบบแม่เหล็ก ผมไม่ค่อยแนะนำ เพราะเวลาเช็ดทำความสะอาดฟิลเตอร์ระหว่างถ่าย Seascape อาจจะทำให้ฟิลเตอร์หลุดร่วงหายได้ง่าย อีกเรื่องที่ต้องระวังคือ CPL บนเลนส์ Ultra-wide อาจทำให้สีท้องฟ้าไม่สม่ำเสมอ ถ้าอยากตัดแสงสะท้อน ให้ใช้ CPL ถ่ายภาพก่อน จากนั้นค่อยถอดฟิลเตอร์ CPL ออกแล้วถ่ายภาพอีกใบ เพื่อนำมารวมกันทีหลัง

ภาพ: ความปลอดภัยของการถ่ายภาพ คือ สิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้นก่อนเข้ามุมถ่ายภาพ Seascape เราต้องศึกษาจังหวะน้ำ เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม และห้ามเสี่ยงที่จะได้ภาพโดยไม่จำเป็น

การถ่ายภาพ Seascape

สำหรับการถ่ายภาพทะเล ผมมักจะแบ่งแนวทางการถ่ายออกเป็น 3 แบบหลักๆ คือ

  1. การเก็บจังหวะคลื่นปะทะ: ใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/4 - 1/6 วินาที เพื่อเก็บภาพคลื่นซัด กระแทกเข้าหาฝั่งอย่างมีพลัง

  2. การเก็บจังหวะน้ำไหลกลับ: ใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1 - 1/2 วินาที เพื่อเก็บภาพน้ำทะเลที่ไหลกลับลงไปอย่างนุ่มนวล

  3. การต้มทะเล: ใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1 - 4 นาที เพื่อทำให้ผิวน้ำทะเลดูเรียบเนียนเหมือนกระจก

ภาพ: ในภาพนี้จะให้เห็นเทคนิค 3 อย่างที่มาอยู่ร่วมกัน ในช่วงกลางภาพ เราจะเห็นจังหวะคลื่นซัด/กระแทก; ในส่วนฉากหน้าเราจะเห็นจังหวะน้ำไหลกลับ เส้นสายลายน้ำสวย; และในส่วนท้องฟ้า ใช้เทคนิคการลากเมฆด้วย Long Exposure

ภาพ: ลุยกันหนัก นอนดึก ตื่นตี 3 ตี 4 แทบทุกวัน ความเหนื่อยล้าก็ยังทำอะไรพี่ๆ ไม่ได้เลย :D ขอบคุณที่มาสนุกด้วยกันกับ AtomicZen Travel ครับ

 เทคนิคในการถ่ายภาพ Seascape

  • การจับจังหวะคลื่น: ก่อนเริ่มถ่ายภาพ ผมจะใช้เวลาสักพักยืนสังเกตคลื่นและมุมที่จะถ่าย เพื่อทำความเข้าใจจังหวะน้ำขึ้นน้ำลง น้ำซัดเข้าฝั่ง น้ำไหลกลับ ว่าเป็นอย่างไร คลื่นจะแรงแค่ไหน จะกระเซ็นมาโดนเราหรือเปล่า การทำแบบนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าควรจะหลบไปทางไหนเมื่อไหร่ รู้จังหวะยกกล้อง หรือจังหวะกดชัตเตอร์ เพื่อไม่ให้กล้องเปียกน้ำ

* ในบรรดาคลื่นทั่วไป จะมีคลื่นพิเศษที่แรงกว่าลูกอื่นเสมอ มันจะซัดเข้าฝั่งแรง เร็ว และดังกว่า ดังนั้นอย่าประมาทกับคลื่นที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า ถ้าเห็นอะไรผิดปกติ เช่น ยอดคลื่นสูงผิดปกติ ให้รีบยกกล้องขึ้นหรือถอยออกมาทันที เพราะไม่ได้ภาพยังดีกว่ากล้องเปียกนะครับ

  • ประเมินความสูงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า: การถ่ายภาพ Seascape ต้องหา 3 ความสูงให้เจอครับ

  1. ความสูงของฉากหน้า: ฉากหน้าที่แบนราบ ไม่มีมิติ หรือไม่มีความสูง น้ำไม่ไหล ไม่ปะทะ จะทำให้ภาพดูไม่น่าสนใจ

  2. ความสูงของกล้อง: จะวางกล้องสูงหรือต่ำ ต้องมองผ่านเลนส์ ไม่ใช่มองจากตาเปล่า เพื่อให้ได้มุมมองที่ถูกต้อง

  3. ความสูงของน้ำ: ต้องประเมินว่าน้ำมาเร็ว มาแรงแค่ไหน เพื่อความปลอดภัย และเพื่อเลือกจังหวะถ่ายภาพที่เหมาะสม จะถ่ายจังหวะปะทะ หรือจังหวะไหลกลับ เพราะหน้างานปรับกล้องไม่ทัน (ยกเว้นตั้งค่า Shooting Bank menu A, B ไว้ล่วงหน้า)

 เมื่อได้ 3 ความสูงแล้ว ที่เหลือก็แค่ตั้งค่า f/11, base iso และเลือกความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะกับจังหวะที่ต้องการ จะเป็นปะทะ ไหลกลับ หรือต้มทะเล

  • การปรับโฟกัส: ควรใช้ Manual focus เท่านั้น โดยเฉพาะกับเลนส์ Ultra-wide บนกล้อง Nikon Z fullframe ที่ระยะ 14 mm ให้ตั้งค่ารูรับแสง f/11 แล้วหมุนโฟกัสไปที่ประมาณ 0.6 เมตร ภาพจะชัดตั้งแต่ 0.3 เมตรไปจนถึงระยะอนันต์ (Hyperfocal distance) แต่ถ้าใช้รูรับแสง f/8.0 ให้หมุนโฟกัสไปที่ประมาณ 0.8 เมตร ภาพก็จะชัดตั้งแต่ 0.4 เมตรไปจนถึงระยะอนันต์เช่นกัน

  • การใส่ฟิวเตอร์: อย่าซ้อนฟิลเตอร์จนทำให้ท้องฟ้ามืดกว่าฉากหน้าเด็ดขาด โดยก่อนใส่ฟิลเตอร์ ต้องเลือกให้ดีว่าส่วนไหนในภาพสว่างที่สุด ถ้าขอบฟ้ามืดแต่ปลายฟ้าเริ่มสว่าง ให้ใช้ Soft GND แต่ถ้าพระอาทิตย์ขึ้น ขอบฟ้าสว่างกว่า ให้ใช้ Medium GND หรือ Reverse GND

* ข้อควรระวังคือ อย่าใส่ฟิลเตอร์ GND ซ้อนกันหลายแผ่น เพราะจะทำให้ขอบภาพมืดเกินไป ถึงจะแก้ไขได้ตอนแต่งภาพ แต่ขอบภาพที่เปิดแสงขึ้นมาจะช้ำ ไม่สวยใสครับ

  • การวางองค์ประกอบภาพ: การถ่ายภาพ Seascape สามารถใช้หลัก Previsualization ได้ครับ โดยการนึกภาพที่เราต้องการไว้ในหัวก่อน แล้วค่อยถ่ายภาพส่วนต่างๆ มาประกอบกันเป็นภาพสุดท้าย เช่น เราอาจจะอยากได้ภาพโขดหินที่มีน้ำปะทะอยู่กลางภาพ พร้อมกับฉากหน้าที่มีน้ำไหลย้อนกลับสวยๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นพร้อมกันได้ยาก แต่เราสามารถถ่ายภาพสองใบแยกกัน แล้วค่อยนำมารวมกันในภายหลังได้

* บางครั้งภาพที่ได้จากหลังกล้องอาจจะดูไม่ว้าวเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะมุมไม่ดี น้ำไม่สวย หรือยังเข้าใกล้ไม่พอ เพราะเราใช้เลนส์ Ultra-wide ระยะ 14-24 mm ถ้ารู้สึกว่าภาพยังไม่มีอะไรโดดเด่น ลองขยับเข้าใกล้ก้อนหิน โขดหิน หรือฉากหน้ามากขึ้นดูครับ แต่ต้องระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลักนะครับ

ภาพ: ในบางจังหวะ หากจวนตัว เราอาจยืนให้มั่นคงและยกกล้องขึ้นสูง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลสาดโดนกล้อง แต่ต้องมั่นใจว่าคลื่นที่ตามมาต้องไม่แรง หรือล้นจนทำให้ขาลอย ไม่เช่นนั้นเราจะเสียการทรงตัวและหกล้มได้ หากเราศึกษาจังหวะการเข้ามาของคลื่นมาก่อน ส่วนใหญ่เราเพียงยืนและจับขาตั้งกล้องให้คลื่นไหลผ่าน จะปลอดภัยกว่าการยกกล้องขึ้นสูงครับ

ภาพ: Bombo beach, Australia เป็นอีกจุดที่นักถ่ายภาพ Seascape ให้เป็นที่สุดของหาดที่โหด มันส์ คลื่นกระแทกแรงสะใจมาก โดยเฉพาะช่วยน้ำขึ้นสูงสุด คลื่นกระแทกโขดหินด้านหน้า มีความสูงขึ้นไปนับ 10 เมตร

 บทเรียนจากภาคสนาม

  • ก่อนถ่ายภาพทุกครั้ง ผมจะเช็คการตั้งค่าให้ละเอียดก่อนเสมอ เพราะบางทีเราอาจจะลืมปรับค่าบางอย่างที่ตั้งไว้จากการถ่ายภาพครั้งก่อน เช่น ISO ที่ดันไว้สูงๆ จากการถ่ายดาวเมื่อคืน การเข้าโหมด DX จากการถ่ายภาพระยะไกล หรือรูรับแสงที่ตั้งไว้กว้างๆ จากการถ่าย Portrait การทวนตัวเองบ่อยๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดครับ ส่วนทริปนี้ผมเองก็พลาดมาแล้ว เพราะใช้เลนส์ 85/1.2 ถ่าย Portrait ให้เพื่อน แล้วเข้าโหมด DX เพื่อให้ภาพแน่นขึ้น พอเปลี่ยนมาใช้เลนส์ 14-24 มม. เพื่อถ่ายวิว ก็ลืมปรับกลับ เลยได้ภาพที่ระยะ 21 มม. แทนที่จะเป็น 14 มม. พอมารู้ตัวตอนนั่งดูรูปในรถก็เซ็งเลยครับ เสียดายมุมสวยๆ ไปเลย  

  • ทริป Sydney Seascape รอบนี้ผมพลาดโดนน้ำกระเซ็นใส่กล้องไป 2 ครั้ง เพราะวางกล้องต่ำเกินไป ไม่ทันระวังคลื่นที่ซัดขึ้นมา ต้องเตือนตัวเองให้ระวังเรื่องนี้ให้มากขึ้น โชคดีที่แค่เปียกนิดหน่อย เอาผ้าเปียกเช็ดแล้วตามด้วยผ้าแห้งก็เรียบร้อย กล้องสะอาดลุยต่อได้

  • จุดสำคัญที่ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าเด็ดขาดคือ ช่องใส่แบตเตอรี่และช่องใส่เมมโมรี่ ส่วนอื่นๆ ถ้าแค่โดนน้ำกระเซ็นเป็นหยดๆ ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะกล้องรุ่นใหม่ๆ มักจะมี Weather sealed กันน้ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะกล้อง Nikon ที่ขึ้นชื่อเรื่องน ผมเคยใช้ Nikon D700 ลุยถ่ายทะเลทุกอาทิตย์อยู่ 3 ปีเต็ม ถ่ายเสร็จก็ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด แล้วตามด้วยผ้าแห้ง ตั้งตากไว้ที่ระเบียง กล้องก็ยังใช้งานได้ดี ไม่เคยงอแงเลยครับ

  • หลายคนอาจจะคิดว่ากางร่มไปด้วยจะช่วยป้องกันน้ำได้ แต่ส่วนตัวผมไม่ถนัด เพราะเวลาใช้เลนส์มุมกว้างถ่ายจังหวะปะทะหรือน้ำไหลย้อนกลับ ต้องคอยจับฟิลเตอร์ ปรับหน้ากล้อง เช็ดเลนส์ มือจะไม่พอใช้เลยครับ ถ้าจะกางร่มจริงๆ อาจจะต้องลอง DIY ทำร่มสวมหมวก หรือใช้ Rain cover ครอบกล้อง (แต่จะควบคุมกล้องยากขึ้นหน่อย ต้องลองฝึกใช้ให้คล่องก่อนออกไปถ่ายจริง)

  • อีกเรื่องที่สำคัญคือ บางมุม เราไม่ควรมองด้วยตาเปล่าว่าสวยหรือไม่ ควรมองผ่านช่องมองภาพของกล้องแทน อย่าเพิ่งรีบปักขาตั้งกล้อง ให้ลองหามุมมองที่เหมาะสมก่อน โดยเฉพาะความสูงของกล้องที่พอดี แล้วค่อยกางขาตั้งกล้องครับ

  • บางครั้งเราไม่สามารถปักขาตั้งกล้องได้เลย เพราะพื้นผิวไม่เรียบ หรือมีก้อนหินเกะกะ ในกรณีแบบนี้ ผมจะใช้สายคล้องคอ ดึงกล้องให้ตึงสุดแขน แล้วใช้มือประคองถ่าย พยายามรักษาความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 1/5-1/6 วินาที เพื่อเก็บจังหวะน้ำปะทะหรือน้ำไหลกลับ ถ้าใครใช้กล้องที่มีระบบกันสั่นเทพๆ ก็จะได้เปรียบมาก เพราะถ่ายภาพได้ไม่สั่น มีโอกาสได้ภาพสวยๆ มากกว่า สำหรับ Nikon ที่ผมใช้ ระบบกันสั่นแบบ Sport ก็พอช่วยได้บ้าง ถึงจะยิง 4 ได้ 1 ภาพ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ภาพเลยครับ หวังว่ากล้องรุ่นต่อๆ ไปจะใส่ระบบกันสั่นเทพๆ มาให้บ้าง จะได้ถ่ายภาพกันได้สนุกขึ้น

  • หลังถ่ายภาพทุกครั้ง อย่าลืมเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ กล้อง เลนส์ ฟิลเตอร์ ให้เรียบร้อย รวมถึงนำขาตั้งกล้องไปล้างน้ำให้สะอาดด้วย เพื่อป้องกันคราบเกลือหรือทรายตกค้างในข้อต่อของขาตั้งกล้องครับ

  • ข้อสำคัญอีกอย่างในการถ่ายภาพทะเลคือ ห้ามเผลอ ห้ามหันหลังให้ทะเล และห้ามเดินห่างจากกล้องเกินระยะที่ควบคุมได้ เพราะอาจเกิดอันตรายทั้งต่อตัวเราและอุปกรณ์ถ่ายภาพจากคลื่นหรือน้ำทะเลได้ครับ เคยมีครั้งหนึ่งที่ผมเผลอคุยกับเพื่อน แค่หลุดโฟกัสไปนิดเดียว คลื่นก็ซัดเข้ามาเต็มๆ เปียกทั้งกล้องทั้งคนเลยครับ

  • อย่าฝากช่างภาพคนอื่นเฝ้ากล้องให้ ถ้ากล้องปักอยู่ริมทะเล เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นมาจะเสียความรู้สึกกันเปล่าๆ ถ้าจำเป็นต้องกลับไปทำธุระหรือหยิบของที่ฝั่ง ให้ย้ายขาตั้งกล้องออกมาด้วยจะปลอดภัยที่สุดครับ

  • อย่ากั๊กมุมถ่ายภาพสวยๆ ครับ บางมุมเข้าออกได้ไม่กี่คน ถ่ายได้แล้วก็ควรออกมาให้คนอื่นได้ถ่ายบ้าง ผมโชคดีที่เพื่อนร่วมทริปทุกคนน่ารัก มีน้ำใจ ไม่เคยมีปัญหากันเรื่องนี้เลยครับ ปัญหาแบบนี้มักจะเจอกับคนนอกกลุ่มหรือคนต่างชาติมากกว่า (แต่ก็มีคนต่างชาติที่น่ารักไม่กั๊กมุมเหมือนกันนะครับ) เจอฝรั่งนิสัยดีก็ถือว่าโชคดีไป แต่บางทีก็เจอพวกขวางโลก มองต่ำใส่คนอื่นเหมือนกัน อย่างตอนถ่ายภาพกลางคืน เคยมีคนเดินผ่านแล้วเปิดไฟฉายส่องมาทางกล้อง ผมก็ขอให้เขาปิดไฟดีๆ ว่า "Excuse me, please turn your light off" แต่กลับโดนตะคอกกลับมาว่า "LIGHT OFF!!" แบบเสียงดังมาก ทั้งที่ผมก็ไม่ได้ไปสาดไฟใส่กล้องเขา แถมปิดไฟแล้วจะเดินไปยังไงก็ไม่รู้ มืดจะตาย แต่ก็ไม่อยากมีเรื่องให้เสียอารมณ์ครับ แต่รอบนี้ที่ออสเตรเลีย ผมเจอฝรั่งกลุ่มหนึ่งถ่ายภาพกลางคืนที่ Bermagui ตอนผมเดินผ่านมุมที่เขาถ่ายอยู่ มีฝรั่งคนหนึ่งเดินมาบอกผมดีๆ ว่า "ช่วยปิดไฟหน่อยนะ พวกเรากำลังทำ Workshop ถ่ายภาพกัน เดินตามผมมา ผมจะเปิดไฟสีแดงพาเดินอ้อมไปเอง" ประทับใจมากครับ ทั้งน่ารักและมืออาชีพสุดๆ (แต่แอบคิดในใจว่าแสงสีแดงจากไฟฉายแก้ยากกว่าแสงสีขาวอีกนะเนี่ย)

ภาพ: ก่อนเข้ามุมถ่ายภาพ ถามตัวเองให้ดีก่อนว่า เราต้องการเก็บภาพจังหวะน้ำแบบใด? หนึ่ง คือ จังหวะปะทะ/คลื่นกระแทก; สอง คือ จังหวะน้ำไหลกลับ เก็บลายน้ำ; และ สาม คือ การต้มทะเล ลาก Shutter speed ให้ภาพเนียนนุ่ม เพราะการเก็บภาพแต่ละวิธีจะมีการตั้งค่า และใช้ฟิลเตอร์แตกต่างกันไป

ภาพ: ส่งท้ายบทความด้วย Full members ของ Sydney Seascape 2024 ต้องกราบขอบพระคุณพี่ต้อม, พี่ปรีชา, และพี่บอย ทีมสนับสนุนจาก Sydney ที่ทำให้ทริปนี้เป็นทริปที่อบอุ่น มีความสุข และราบรื่นตั้งแต่วันแรก ยันวันสุดท้าย ปีหน้าพบกันใหม่ครับ :D

หวังว่าประสบการณ์และบทเรียนจากทริปถ่ายภาพ Seascape ที่ซิดนีย์ของผม จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่รักการถ่ายภาพเหมือนกันนะครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่านมาจนจบ หากมีคำถามหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ก็ติดต่อพูดคุยกันได้ทาง Facebook : Bhuminan Piyathasanan อีเมล์  bhuminan@gmail.com ได้ครับ และใครที่สนใจร่วมออกทริปถ่ายภาพ ปีหน้าผมจะจัด Sydney Seascape 2025 ในช่วงปลายเดือน พฤษภา - ต้นเดือน มิถุนายน รับกลุ่มเล็ก 6 คนเช่นเดิม รีบสอบถามหรือจองเข้ามาได้ แล้วไปลุยถ่ายภาพด้วยกันครับ

Next
Next

บันทึกจากภาคสนาม Norway Winter - March 2024